ข่าวในหมวด ข่าวออนไลน์ News

10 อันดับจังหวัดที่มีจำนวนผู้สูงอายุมากที่สุดในประเทศไทย ปี 2566


#เศรษฐศาสตร์ตลาดสด ข้อมูลกรมการปกครองเดือนกันยายน ปี 2566 ระบุว่า ประเทศไทยมีประชากรที่มีอายุเกิน 60 ปี มีจำนวน 13,043,792 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 19.74 จากประชากรทั้งหมด 66.061 ล้านคน มีจำนวนผู้สูงอายุเป็นเพศชายรวม 5.7 ล้านคน และเพศหญิงรวม 7.2 ล้านคน จังหวัดที่มีจำนวนผู้สูงอายุมากที่สุด คือ กรุงเทพมหานคร 5 อันดับแรกเป็นเมืองหลวง ปริมณฑลและหัวเมืองใหญ่ในแต่ละภูมิภาค หากดูจำนวนรวมผู้สูงอายุแยกตามภูมิภาคพบว่าส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตามลำดับ 

10 อันดับจังหวัดที่มีจำนวนผู้สูงอายุมากที่สุด ดังนี้
อันดับที่ 1 กรุงเทพมหานคร มีผู้สูงอายุจำนวนทั้งสิ้น 1,239,757 คน
อันดับที่ 2 นครราชสีมา มีผู้สูงอายุจำนวนทั้งสิ้น 525,039 คน
อันดับที่ 3 เชียงใหม่ มีผู้สูงอายุจำนวนทั้งสิ้น 404,512 คน
อันดับที่ 4 ขอนแก่น มีผู้สูงอายุจำนวนทั้งสิ้น 362,193 คน
อันดับที่ 5 อุบลราชธานี มีผู้สูงอายุจำนวนทั้งสิ้น 324,436 คน
อันดับที่ 6 นครศรีธรรมราช มีผู้สูงอายุจำนวนทั้งสิ้น 303,899 คน
อันดับที่ 7 บุรีรัมย์ มีผู้สูงอายุจำนวนทั้งสิ้น 289,633 คน
อันดับที่ 8 เชียงราย มีผู้สูงอายุจำนวนทั้งสิ้น 286,394 คน
อันดับที่ 9 นนทบุรี มีผู้สูงอายุจำนวนทั้งสิ้น 280,166 คน
อันดับที่ 10 อุดรธานี มีผู้สูงอายุจำนวนทั้งสิ้น 278,064 คน

อ้างอิงตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563 เห็นชอบให้ประเทศไทยมีมาตรการรองรับสังคมสูงวัยคนไทยอายุยืน โดยสรุปสั้นๆ  แบ่งออกเป็น 4 มิติ ดังนี้

“มิติทางเศรษฐกิจ” ประกอบด้วย การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ การจ่ายเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ การจ่ายเงินสงเคราะห์ การให้กู้ยืม การส่งเสริมการออมเงิน การจัดหางานให้ผู้สูงอายุที่ต้องการทำงาน การส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการประกอบอาชีพ การคุ้มครองและเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับแรงงานผู้สูงอายุ ผ่านการเสนอปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

“มิติสภาพแวดล้อม” ประกอบด้วย การปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุ การประเมินสุขภาพแบะเฝ้าระวังการพลัดตกหกล้ม การส่งเสริมความรู้เชิงป้องกันแก้ผู้สูงอายุ

“มิติสุขภาพ” ประกอบด้วย การให้บริการวัคซีนป้องกันโรค การประเมินภาวะสุขภาพ การป้องกันปัญหาสุขภาพกายและใจ การส่งเสริมการเรียนรู้ในการดูแลสุขภาพ การดูแลสุขภาพตามสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

“มิติสังคม” ประกอบด้วย ชมรมผู้สูงอายุและโรงเรียนผู้สูงอายุ การสังคมสงเคราะห์ การดูแลผู้สูงอายุทั้งในระดับจังหวัดและผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ การแข่งกีฬา การจัดตั้งธนาคารเวลา การช่วยเหลือทางกฎหมาย และการขับเคลื่อนแผนงาน/นโยบายและการสำรวจข้อมูลด้านผู้สูงอายุ

ทั้งนี้มีการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมสนับสนุนการขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุให้ครบทุกมิติ เช่น ฐานข้อมูลด้านการคัดกรองสุขภาพของผู้สูงอายุและส่งเสริมความรู้ด้านสุขภาพ การพัฒนาระบบคัดกรองปัญหาสุขภาพจิตของผู้สูงอายุ การพัฒนาระบบซอฟแวร์การบริหารจัดการสถานดูแลผู้สูงอายุ ระบบเฝ้าระวังผู้สูงอายุ อุปกรณ์อำนวยความสะดวก เป็นต้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินมาตรการต่างๆ ข้างต้นภายใต้มติ ครม. เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุของไทยมาอย่างต่อเนื่อง

จากข้อมูลสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2565 ของกรมกิจการผู้สูงอายุ ชี้ให้เห็นว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า ประชากรไทยจะลดลงเหลือ 60 ล้านคน ประชากรผู้สูงอายุ ที่มีอายุ 60 ปีข้ึนไป จะเพิ่มจำนวนจาก 13 ล้านคน เป็น 19 ล้านคน ปัจจุบันมีแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุระยะที่ 3 (พ.ศ. 2566-2580) โดยกำหนดแผนระยะเร่งด่วน 5 ปีแรกนั้น อาทิ การส่งเสริมให้ประชากรอายุ 25-59 ปี เร่งเตรียมการยามสูงอายุในมิติทางเศรษฐกิจ ภายใต้การเร่งพัฒนาระบบบำนาญแห่งชาติแบบหลายชั้น การส่งเสริมการออมเพื่อยามชราภาพ การขยายอายุเกษียณและส่งเสริมการทำงานต่อเนื่องของประชากรวัยทำงาน เรื่องการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจถึงกระบวนการชราภาพ ตระหนักถึงคุณค่าตนเอง เรื่องการส่งเสริมการพัฒนาความรู้และศักยภาพตนเองอย่างต่อเนื่อง รู้เท่าทันและใช้ประโยชน์จากสื่อสารสารสนเทศและเทคโนโลยีดิจิทัล เรื่องเร่งส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพ และเรื่องส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับวัยสูงอายุ เป็นต้น

“ธุรกิจด้านศูนย์ดูแลผู้สูงอายุขยายตัวรวดเร็ว” ในมุมธุรกิจเอกชนพบว่าธุรกิจการดูแลผู้สูงอายุขยายตัวอย่างก้าวกระโดด ทั้งนี้ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี ประเมินธุรกิจศูนย์ดูแลผู้สูงอายุในปี 2576 จะมีมูลค่าธุรกิจตลาดกว่า 2 หมื่นล้านบาท ข้อมูลในปี 2566 ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุมีมูลค่าตลาดราว 2.57 พันล้านบาท ธุรกิจด้านศูนย์ดูแลผู้สูงอายุมีการเติบโตสูงด้วยค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีที่สูงถึงร้อยละ 25.1 โดยคาดการณ์ว่าธุรกิจศูนย์ดูแลผู้สูงอายุในช่วงปี 2567 – 2571 จะมีอัตราเร่งขยายตัวเฉลี่ยกว่าร้อยละ 30.5 ต่อปี และแนวโน้มยังขยายตัวได้ต่อเนื่องในช่วงปี 2572 – 2576 คิดเฉลี่ยร้อยละ 15 ต่อปี

นอกจากนี้ข้อมูลระบุว่าตั้งแต่ช่วงปี 2579 เป็นต้นไป ถือเป็นช่วงเริ่มต้นของกลุ่ม Gen Y เข้าสู่ช่วงวัยเกษียณและแนวโน้มความต้องการผู้ดูแลผู้สูงอายุจำนวนมาก ข้อมูลการวิเคราะห์ดูจากอัตราการสร้างครอบครัวที่ต่ำเพียงร้อยละ 44 – 56 กลุ่มที่มีครอบครัวก็มีอัตราการมีลูกที่ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 55 ส่งผลให้อัตราการเลือกอยู่ในศูนย์ดูแลผู้สูงอายุคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในระดับที่ร้อยละ 4.5 ขึ้นไปของประชากรกลุ่มที่เข้าสู่วัยเกษียณในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล กลุ่มประชากรผู้สูงอายุในจังหวัดใหญ่ของแต่ละภูมิภาค

เห็นได้ว่าความต้องการสถานดูแลผู้สูงอายุของภาครัฐและภาคธุรกิจทั้งพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล รวมทั้งหัวเมืองใหญ่ของแต่ละภูมิภาคเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ประเด็นหนึ่งที่มองว่ามีความจำเป็นคือการส่งเสริมธุรกิจบริการผู้สูงอายุอย่างเป็นระบบและมีมาตรฐาน พร้อมทั้งการเตรียมความพร้อมด้วยการส่งเสริมหลักสูตรสร้างอาชีพและอบรมการดูแลผู้สูงอายุผ่านสถาบันการศึกษา โรงเรียนฝึกอาชีพทั้งระดับจังหวัดและระดับท้องถิ่นเพื่อรองรับการขยายตัวสถานดูแลผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark