ข่าวในหมวด ข่าวออนไลน์ News

เคาะแล้ว ครอบครองยาบ้าไม่เกิน 5 เม็ด เป็นผู้เสพ


สธ. เคาะครอบครองยาบ้าไม่เกินกว่า 5 เม็ด ถือเป็นผู้เสพ ให้ส่งบำบัด ไม่ต้องเข้าคุก

ครอบครองยาบ้า วันนี้ (3 พ.ย.2566) นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานประชุมหารือการกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษฯ ที่ให้สันนิษฐานว่า มีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานศาลยุติธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวภายหลังการประชุมหารือกันกว่า 3 ชั่วโมง ว่า การประชุมวันนี้เป็นการประชุมตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี จากกรณีที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566 ที่มีข้อสั่งการให้ร่างกฎกระทรวง กำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ครอบครองเพื่อเสพฯ

จากการประชุมมีข้อสรุปว่า เมทแอมเฟตามีน หรือยาบ้า กำหนดไว้ไม่เกิน 5 เม็ด สันนิษฐานว่ามีไว้ใช้ในการครอบครองเพื่อเสพ โดยขั้นตอนต่อไปจะดำเนินการนำความเห็นของที่ประชุมเสนอต่อ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อพิจารณาเรื่องการออกเป็นร่างเป็นกฎกระทรวงต่อไป โดยในขั้นตอนการร่างกฎกระทรวงจะต้องมีขั้นตอนของการเปิดรับฟังความคิดเห็นและทำประชาพิจารณ์ จากนั้นจึงจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ก็จะต้องรับฟังความเห็นจากส่วนที่เกี่ยวข้องในด้านกฎหมาย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งคาดว่าน่าจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง

ส่วนเหตุผลที่กำหนดไว้ไม่เกิน 5 เม็ดถือเป็นผู้เสพนั้น ใช้เหตุผลทางวิชาการทางการแพทย์ ซึ่งจะมีกรมการแพทย์ กรมสุขภาพจิต สำนักงานอาหารและยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มาให้ข้อมูลรายละเอียดเรื่ององค์ประกอบของยาและผลกระทบจากขนาดของยาองค์ประกอบเบื้องต้น ขณะเดียวกันก็จะมีการรับฟังเรื่องของผลกระทบในมิติอื่น ๆ เช่น ผู้บังคับใช้กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม ตลอดจนมิติต่อสังคม ให้ครบถ้วนในทุกมิติ

ด้านแพทย์หญิงดุษฎี จึงศิรกุลวิท ผู้อำนวยการกรมสุขภาพจิต อธิบายว่า การใช้ยาตั้งแต่ปริมาณน้อยไปจนถึงปริมาณเพิ่มมากขึ้นจะมีผลต่อสมองและระบบประสาทของผู้เสพต่างกันไป โดยผู้ที่ใช้มากกว่า 55 มิลลิกรัม จะส่งผลทำให้เกิดอาการทางจิตชนิดหลงผิดแบบหวาดระแวง ซึ่งจะเข้าเกณฑ์ผู้ป่วย SMIV คือผู้ป่วยโรคจิตเวชชนิดรุนแรงที่เสี่ยงต่อการก่อความรุนแรง ซึ่งเป็นผู้ป่วยกลุ่มที่จะมีความเสี่ยงสูงที่จะทำร้ายตัวเองหรือผู้อื่นและทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยในสังคม ดังนั้นการปล่อยให้ใช้ยาในปริมาณมากและเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จะเป็นการเพิ่มจำนวนผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว

ขณะที่ พล.ต.ท. คีรีศักดิ์ ตันตินวะชัย ผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด เปิดเผยว่า ผู้ที่มียาบ้าเกินกว่า 5 เม็ด จะถือเป็นผู้ครอบครองโดยผิดกฎหมาย โดยหลักกฎหมายจะแบ่งความผิดเป็น 2 ประเภท คือ ความผิดเรื่องของการเสพ ไม่ว่าจะเสพโดยตรงหรือครอบครองเพื่อเสพ ส่วนอีกกลุ่มคือความผิดร้ายแรง ได้แก่ ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย และครอบครอง ซึ่งกลุ่มความผิดร้ายแรงนี้จะมีโทษเท่ากัน ดังนั้นเรื่องนี้ มองว่า เป็นวิธีการในการปราบปรามผู้กระทำผิดให้ได้รับโทษตรงตามข้อหาตามทุนหนักเบา ส่วนเรื่องของผู้ค้าที่แพร่ระบาดในชุมชนต้องขึ้นอยู่กับพฤติกรรมด้วย ดังนั้นกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนว่า ผู้ครอบครองไม่เกิน 5 เม็ด จะสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้เสพ แต่ถ้าในทางการสืบสวนพบว่ามีพฤติกรรมในการลักลอบจำหน่าย ก็จะถูกดำเนินคดีในข้อหาจำหน่าย

ทั้งนี้ หากพิสูจน์ได้ว่าเสพอย่างเดียว ต้องการเปลี่ยนผู้ซื้อให้เป็นผู้บำบัด ซึ่งจะมีการนำไปบำบัดรักษาตามกระบวน ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับตัวผู้เสพด้วยที่ต้องสมัครใจ แต่หากไม่สมัครใจก็สามารถนำไปดำเนินคดีได้ในข้อหาครอบครองเพื่อเสพ ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ส่วนโทษความผิดร้ายแรง จำคุกตั้งแต่ 1 - 10 ปี

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark