ข่าวในหมวด ข่าวออนไลน์ News

เสาอาคารเรียนอนุบาลบ้านแพ้ว ระเบิดกว่า 40 ต้น สพป.สมุทรสาคร สำรวจก่อนสรุปปิดอาคารหรือไม่


สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรสาคร พร้อมโยธาธิการ-ผังเมืองจังหวัด สำรวจความปลอดภัยเสาอาคารเก่าโรงเรียนอนุบาลบ้านแพ้ว พบระเบิดจนเห็นเหล็กด้านในกว่า 40 ต้น เล็งย้ายนักเรียนไปพื้นที่ปลอดภัย ก่อนสรุปภาพรวมต้องปิดอาคารเรียนหรือไม่

วันนี้ (9 พ.ย.66) ว่าที่ร้อยเอก วีรธนา นรากรณ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรสาคร เข้าสำรวจความชำรุดของอาคารโรงเรียนอนุบาลบ้านแพ้ว (วันครู2500) โดยมีนางเกษฎาพร วีระกุล ผู้อำนวยการโรงเรียน อนุบาลบ้านแพ้ว (วันครู2500) คณะครู กรรมการสถานศึกษา และผู้นำท้องถิ่น ร่วมให้ข้อมูล

จากการสำรวจพบว่าส่วนที่ชำรุดทรุดโทรม คือ เสาอาคารเรียนเก่าของโรงเรียน ซึ่งเป็นอาคารกึ่งไม้กึ่งปูนที่มีอายุเกือบ 50 ปี โดยพบว่ามีการระเบิดจำนวน 43 ต้นจาก 94 ต้น จนเห็นเหล็กเส้นด้านใน อีกทั้งยังพบว่าตัวอาคารเริ่มทรุด ผนังอาคารที่กั้นแต่ละห้องลอยตัวสูงขึ้นมาจนเป็นช่องด้านล่าง ส่วนโครงสร้างไม้พบว่ามีปลวกขึ้นจนเนื้อไม้เริ่มปูดบวม

ขณะนี้ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร ได้ลงพื้นที่ไปเมื่อช่วงเย็นของวันที่ 8 พ.ย. และได้เห็นความชำรุดจึงได้รีบประสานไปยังสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อให้ส่งวิศวกรเข้าไปสำรวจอาคารโดยด่วน ที่สำคัญคือเรื่องความปลอดภัย เนื่องจากตอนนี้อาคารหลังนั้นยังใช้งานตามปกติ โดยเป็นอาคารเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปี 1-4 จำนวนกว่า 400 คนที่ยังเรียนที่นี่

ว่าที่ร้อยเอก วีรธนา เผยว่า ทางสำนักงานเขตฯ ได้ลงพื้นที่สำรวจไปแล้วหนึ่งรอบเมื่อปลายเดือนต.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่ให้สำรวจโรงเรียนทุกแห่ง ซึ่งหากพบความชำรุดให้รีบรายงานไปต้นสังกัด เพื่อหาแนวทางบูรณะ ส่วนกรณีของโรงเรียนอนุบาลบ้านแพ้ว (วันครู2500) ตอนนี้ได้รายงานไปยังต้นสังกัดแล้ว แผนเฉพาะหน้าตอนนี้คือการสำรวจด้านความปลอดภัย หากพบว่าอาคารไม่ปลอดภัยแล้ว ทางโรงเรียนก็ได้เตรียมแผนรองรับเรื่องการเรียนของเด็กๆ ซึ่งอาจใช้ห้องอื่นๆ มาจัดเป็นห้องเรียนชั่วคราว แต่ถ้าห้องเรียนไม่พออาจต้องประสานไปยังโรงเรียนใกล้เคียง เพื่อขอใช้พื้นที่ ซึ่งนักเรียนจะต้องปลอดภัยที่สุด

ส่วนการสำรวจด้านความปลอดภัยนั้น ทางเจ้าหน้าที่สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสมุทรสาคร ได้เข้ามาประเมินแล้วเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 9 พ.ย.66 โดยให้นักเรียนในส่วนที่ห้องเรียนมีเสาชำรุดเสียหายมาก ไปจัดการเรียนการสอนยังพื้นที่อื่นภายในโรงเรียนก่อน ส่วนการประเมินความปลอดภัยทั้งหมดว่าจำเป็นต้องปิดอาคารเรียนหรือไม่นั้น โยธาธิการจังหวัด ต้องใช้เวลาประมาณ 1-2 วัน จึงจะให้ข้อสรุปที่ชัดเจน

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark