เศรษฐา โต้โพลไม่เห็นด้วย กู้มาแจก ย้ำจำเป็นแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต
เช้านี้ที่หมอชิต - นิด้าโพล เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน หัวข้อ "OK ไหม กับ นายกฯ สรุปเอง เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท" พบว่าเสียงส่วนใหญ่ 50.69% ไม่เห็นด้วย กับการกู้เงินเพื่อมาทำโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต แน่นอนว่าเมื่อ ข้อมูลชุดนี้ไปถึง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แล้ว ท่านจะมีความเห็นอย่างไร
เมื่อถามว่า ห่วงหรือไม่ กว่า พ.ร.บ.กู้เงินจะออกมาอาจมีเสียงสะท้อนมากขึ้นอีก ท่านนายกฯ ยืนยันว่า ไม่ต้องห่วงไม่เสียกำลังใจและไม่เสียสมาธิแน่นอน
ส่วนตัวเลขที่นายกรัฐมนตรีกล่าวถึง และใช้ยืนยันอ้างอิงความวิกฤตเร่งด่วน จึงจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อมาทำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตหลายต่อหลายครั้งในช่วงนี้ก็คือ ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ซึ่งเป็นเกณ์ชี้วัดหนึ่ง ในการประเมินความเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศนั้น ๆ ล่าสุด สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือ สภาพัฒน์ เปิดตัวเลข GDP ในไตรมาส 3/66 ขยายตัวได้เพียง 1.5% จากที่เคยประเมินไว้ที่ระดับ 2.0 -2.2% เป็นผลมาจากการส่งออกรวมที่หดตัวลดลงต่อเนื่องมา 4 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาส 4/65 ซึ่งนายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า พอได้เห็นตัวเลขแบบนี้ก็ตกใจและเป็นห่วงมาก
เมื่อถามว่า GDP ตกมาที่ 1.5 ขนาดนายกฯ ยังบอกว่าตกใจ แต่กว่าเงินดิจิทัลจะได้ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ ยังมีอีกหลายขั้นตอน จะมีเทคนิคในการบริหารเศรษฐกิจอย่างไรที่เร็วกว่านี้หรือไม่ นายกฯ จึงตอบกลับมาหลายนโยบาย ดิจิทัลวอลเล็ตถือเป็นนโยบายใหญ่ นโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวเป็นอีกหนึ่ง นโยบายซอฟพาวเวอร์ก็เป็นอีกหนึ่ง บางอย่างทำได้ทันที บางอย่างต้องใช้เวลา ทำได้ทันทีคือการแก้ไขปัญหาหนี้สินทั้งระบบ โดยวันที่ 28 พฤศจิกายนนี้จะแถลงเรื่องการแก้ไขหนี้นอกระบบ และวันที่ 12 ธันวาคม จะแถลงเรื่องหนี้ในระบบทั้งหมด
เมื่อถามว่าตัวเลขแบบนี้หนักกว่าที่คิดไว้ใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เป็นการยืนยันมากกว่า สิ่งที่เราคิดมันคืออย่างนั้น แต่พอถามย้ำไปว่า คิดว่าไม่เกินความสามารถของนายกฯใช่หรือไม่ นายเศรษฐายิ้มนิดนึง พร้อมกล่าวว่า "สวัสดีครับ ขอบคุณครับ" พร้อมกับยกมือไหว้และเดินขึ้นรถทันที
ขณะที่ตัวแทงค์ฝั่งก้าวไกล ศิริกัญญา ตันสกุล สส.แบบบัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ซึ่งยืนเดี่ยวใส่พรรคเพื่อไทยเกือบทั้งพรรค เรื่องนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็มีความเห็นต่อเรื่องนี้ทันทีเช่นกัน ระบุว่า การที่ GDP ไตรมาส 3 โตเพียง 1.5% แต่ภาคการบริโภคโตถึง 8.1% สะท้อนปัญหาเศรษฐกิจไทยไม่ได้อยู่ที่การบริโภค แต่อยู่ที่ภาคอุตสาหกรรม การส่งออก และการลงทุนภาครัฐหดตัว ดังนั้น การกระตุ้นการบริโภคด้วยโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจึงอาจไม่สามารถแก้ปัญหาได้
ทั้งนี้ ศิริกัญญา กล่าวว่า หากดูตัวเลขภาคบริการขยายตัวได้ดีมาก โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว โรงแรม และร้านอาหารโตขึ้นถึง 14.9% การค้าปลีกและค้าส่งโต 3.3% และภาคการขนส่งโต 6.8% ถึงแม้การส่งออกสินค้าจะหดตัวตามคาดที่ -3.1% แต่เป็นการหดตัวตามเศรษฐกิจโลก ขณะที่การส่งออกภาคบริการกลับโตถึง 23% จากตัวเลขเหล่านี้ ศิริกัญญา ยืนยันว่า ไม่ใช่ "วิกฤตเศรษฐกิจ" อย่างที่รัฐบาลพยายามประโคมข่าว ไม่มีใครเถียงว่าเศรษฐกิจไทยแย่หรือโตช้า และโตต่ำกว่าที่คาด แต่คำถามที่คาใจใครหลาย ๆ คนในตอนนี้คือ สรุปแล้วเศรษฐกิจไทย "วิกฤต" หรือยัง