ข่าวในหมวด ข่าวออนไลน์ News

แนวโน้มเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย


#เศรษฐศาสตร์ตลาดสด จะมาวิเคราะห์แนวโน้มของเศรษฐกิจในไตรมาส 4 (ตุลาคม - ธันวาคม) และเศรษฐกิจในปี 2567 ในขณะที่ ทางยุโรปมีสงครามยูเครน-รัสเซีย ทางตะวันออกก็มีสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ไทยอาจไม่โดนผลกระทบจากสงครามโดยตรง แต่เราก็ได้รับผลทางอ้อมผ่านราคาน้ำมัน

ประเทศในพื้นที่สงครามต่างเป็นผู้ส่งออกน้ำมันของตลาดโลก และในไตรมาส 4 นี้ ซาอุดิอาระเบียและรัสเซีย ประเทศสมาชิกกลุ่มโอเปค ยืนยันจะยังคงลดการผลิตน้ำมันต่อเนื่องยาวไปจนถึงสิ้นปี เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกมีการปรับตัวลดลงต่อเนื่องมาแล้ว 4 สัปดาห์ ทำให้แตะราคาต่ำสุดในรอบ 4 เดือน (80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล)

สำหรับราคาน้ำมันในปี 2567 S&P Global คาดว่าราคาน้ำมันดิบเบรนท์จะอยู่ในระดับประมาณ 81 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 ก่อนจะปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป โดยสถาบันการเงินระดับโลก เช่น Goldman Sachs และ Barclays คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบเบรนท์จะแตะราคา 92 -93 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในปีหน้า เนื่องจากปริมาณการผลิตน้ำมันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มจะไม่พอเพียงกับความต้องการ แม้ธนาคาร Standard Chartered จะคาดว่าระดับความต้องการน้ำมันในเอเชียจะลดลงในปีหน้าเมื่อเทียบกับปีนี้ ประมาณ 0.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและอินเดียในปีหน้า

ในขณะที่ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันในปีหน้า จะอยู่ระหว่าง 92-157 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ขึ้นอยู่กับว่าสงครามในอิสราเอลส่งผลต่อการผลิตและส่งออกน้ำมันในแถบตะวันออกกลางมากน้อยแค่ไหน

ในส่วนของผลกระทบของสงครามอิสราเอลต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวม ทั้ง Bloomberg และ EY ต่างก็คาดว่าผลกระทบจะมีไม่มากนัก แต่ด้วยราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ทำให้มีความเสี่ยงว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับมาสูงขึ้นในปีหน้า ทำให้เฟดอาจจะยังคงไม่ลดอัตราดอกเบี้ยลงมา แม้หลายสำนักรวมถึงบริษัทจัดอันดับเครดิตออกมาคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลง โดยจะมีอัตราการเติบโตเพียง 2.1% ในปี 2567

======

ประเทศไทยยังคงเป็นประเทศนำเข้าน้ำมัน ราคาน้ำมันและเชื้อเพลิงภายในประเทศ ซึ่งเป็นต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า มีแนวโน้มที่สูงขึ้นตามตลาดโลก ทำให้ประชาชนมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และหากภาครัฐยังคงใช้มาตรการสนับสนุนค่าไฟหรือราคาน้ำมัน จะทำให้มีภาระทางการคลังเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังทำให้ไม่เกิดการปรับพฤติกรรมการบริโภคตามกลไกตลาดและไม่สามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ตามเป้าหมายชองประเทศ

ผลจากราคาน้ำมันที่จะปรับตัวสูงขึ้น การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ และมาตรการใช้จ่ายต่างๆ ของภาครัฐ (เช่น การแจกเงินดิจิตอล มาตรการลดหย่อนภาษีที่ให้กับผู้ที่ไม่ได้รับแจกเงินดิจิตอล เป็นต้น) จะทำให้ระดับราคาสินค้าของไทยอาจมีการปรับตัวสูงขึ้นในปีหน้า

มูลค่าการส่งออกบริการอาจเพิ่มขึ้นในปีหน้าเมื่อจำนวนนักท่องเที่ยวกลับมามากขึ้น ในขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลงตามเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าสินค้าจากไทย โดยเฉพาะจีน ยุโรป อเมริกา อินเดีย และประเทศในกลุ่มอาเซียนที่ได้รับผลกระทบจากการหดตัวทางเศรษฐกิจของประเทศจีน ทำให้มูลค่าอุปสงค์รวมของประเทศไม่ได้เติบโตมากนัก

หลายสำนักคาดว่าประเทศไทยจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีหน้าที่สูงกว่าปีนี้ เนื่องจากมีการชะลอการใช้จ่ายในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ทำให้เศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ไม่สามารถขยายตัวได้มากนัก แต่เมื่อการใช้จ่ายภาครัฐกลับมาหลังตั้งรัฐบาลสำเร็จ ตัวเลขการใช้จ่ายภาครัฐจะกลับมาในปีหน้า รวมถึงหากมีการใช้มาตรการเร่งการใช้จ่ายของประชาชน

โดย ADB, IMF และธนาคารโลก คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตในปีหน้าอยู่ระหว่าง 3.2% -3.7% และบริษัทจัดอันดับเครดิตอย่าง Fitch คาดว่าไทยจะเติบโตในปีหน้าประมาณ 3.8% (ซึ่งแทบไม่ต่างจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของปีนี้ที่คาดว่าจะโต 3.7%) จะเห็นว่าหน่วยงานต่างประเทศต่างก็มองว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปีหน้าไม่ต่างจากปีนี้มากนัก ในขณะที่ศูนย์วิจัยฯ ต่างๆ ของไทย กลับคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ถึงประมาณ 3.2%-4.6%

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark