ข่าวในหมวด ข่าวออนไลน์ News

แห่ส่งกำลังใจ ดร.เค็ง ได้ทุนเรียน ป.เอก ป่วยจิตเวชถูกฟ้องเรียกคืนทุนนับ 10 ล้าน


การศึกษาทำให้ป่วย? ชาวเน็ตแห่ส่งกำลังใจ ดร.เค็ง ได้รับทุนเรียนจบ ป.เอก ป่วยจิตเวช ทำงานไม่ได้ ถูกมหาวิทยาลัยฟ้องเรียกคืนทุนฯ นับ 10 ล้าน บก.ลายจุดเปิดเส้นทางชีวิต ขอพื้นที่พูดคุยหาทางออก

ความคืบหน้าหลังการช่วยเหลือ ดร.เค็ง ผู้ที่ได้รับทุนปริญญาเอก หลังกลับมาทำงานใช้ทุน ป่วยจิตเวชถูกมหาวิทยาลัยฟ้องเรียกทุนคืน 10 ล้าน หลังจาก บก.ลายจุด หรือนายสมบัติ บุญงามอนงค์ ออกมาเปิดเผยสรุปเส้นทางชีวิตของ ดร.เค็ง ซึ่งเกิดในครอบครัวคนจีนที่มีพี่น้อง 9 คน เธอเป็นคนที่ 8 ฐานะทางบ้านค่อนข้างยากจนในวัยเด็ก พี่ๆต้องทำงานส่งเสียเธอเรียน และเธอเป็นคนเดียวในบ้านที่มีโอกาสเรียนหนังสือจนจบปริญญาเอก ด้วยทุนกระทรวงวิทย์ฯ และมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง

ขณะที่ ดร.เค็งเรียน ป.เอก อยู่ที่อังกฤษอ เค็งป่วยด้วยโรคจิตเวช เข้าสู่กระบวนการรักษาใน รพ. และโชคดีที่ระบบการดูแลของมหาวิทยาลัยที่นั่นดีมากจนอาการกลับมาดีและเรียนจนจบ ป.เอก สามารถกลับมาทำงานใช้ทุนเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยในประเทศไทย แต่เมื่อทำงานเป็นอาจารย์ได้อีกสักระยะหนึ่ง อาการป่วยของกำเริบ ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ผู้บริหารขอให้ลาออก ด้วยสภาวะการเจ็บไข้ ทำให้ ดร.เค็งเขียนข้อความลาออกทางอีเมล์ ในขณะที่ยังไม่ครบเงื่อนไขการใช้ทุน และมหาวิทยาลัยก็ฟ้องเรียกเงินชดเชยทุนที่ส่งไปเรียนนับสิบล้านบาท

ข้อความตอนหนึ่ง บก.ลายจุด ระบุว่า ดร.เค็ง ไม่รู้เลยว่าการเจ็บป่วยจะนำไปสู่ความยุ่งยากถึงขนาดนี้ ดร.เค็งเดินเร่ร่อนอยู่ที่เชียงราย ขี่จักรยานจากในเมืองไปแม่จัน พูดคนเดียว ไม่อาบน้ำ แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าเดิมๆ อยู่เป็นปี ดร.เค็งป่วยจิตเวชเต็มรูปแบบ กว่าจะได้เข้าสู่กระบวนการรักษาก็ผ่านไปหลายปี แม้ตอนนี้อาการจิตเวชจะดีขึ้นแล้ว แต่ยังมีอาการซึมเศร้า และรับรู้ว่าตนเองกำลังเผชิญหน้ากับการฟ้องร้องจนต้องกลายเป็นบุคคลล้มละลาย และทำให้พี่ชายที่เซ็นค้ำประกันตอนขอทุนได้รับความเดือนร้อนไปด้วย

ดร.เค็งต่อสู้คดีโดยลำพังในศาลปกครอง โดยสู้ว่าไม่ได้หนีทุน แต่เพราะป่วยซึ่งมิใช่การกระทำของตนเอง ซึ่งในระเบียบของกระทรวงวิทย์ฯ มีข้อยกเว้นการใช้ทุนหากเจ็บป่วยจนไม่สามารถทำงานได้ แต่มหาวิทยาลัยสู้ในประเด็นว่า ดร.เค็งลาออกและไม่ทำงานใช้ทุน ศาลรับพิจารณากรณีเพียงได้ใช้ทุนหรือไม่ แต่ไม่ได้พิจารณาว่าป่วยหรือไม่ป่วย ทำให้แพ้คดีในศาลปกครองชั้นต้น และอยู่ระหว่างการอุธรณ์

“คนที่เคยเป็นความหวังของครอบครัวกลับกลายอยู่ในสภาพที่ถูกฟ้องร้องด้วยเงินนับสิบล้านบาท แม้พยายามขอกลับเข้าไปทำงานเพื่อยุติข้อพิพาทก็ไม่ได้รับโอกาส จนเมื่อวันที่ 1 ธค 66 ดร.เค็งได้กลับไปทำงานให้กับมูลนิธิฯแห่งหนึ่ง อยู่ภายใต้หน่วยงานรัฐ เป็นการกลับเข้าสู่การทำงานในรอบ 10 ปี และเธอมีความสุขมาก แม้หัวหน้างานจะบอกว่างานวิจัยของเธอนั้นทำงานที่บ้านได้ แต่ ดร.เค็งอยากออกมาเจอผู้คนและกลับเข้าสู่การทำงานอีกครั้ง” บก.ลายจุด ระบุ

บก.ลายจุด ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ปัญหาหนึ่งที่ซ่อนอยู่ในเคสแบบนี้คือ แรงบีบคั้นจากการศึกษา แม้เรียนจนจบแต่ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น กับการออกไปใช้ชีวิตลำพังในต่างประเทศและเรียนหนังสืออย่างหนัก ไม่ใช่ทุกคนที่จะรับมือกับเรื่องแบบนี้ได้ การศึกษาเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งของการป่วยเป็นโรคจิตเวช ก่อนหน้านี้เราเคยได้ยินว่าเรียนจนเป็นบ้า มันมีที่มาจริงๆ และเป็นเรื่องที่ควรทำให้เกิดความรู้และมีระบบในการรับมือกับสถานการณ์เช่นนี้

เมื่อเรื่องราวชีวิตของดร.เค็งถูกเผยแพร่ออกไป มีคนเข้ามาให้กำลังใจ ดร.เค็งเป็นจำนวนมาก พร้อมชื่นชมในความเข็มแข็ง และเชื่อมั่นว่าความพยายามจะทำให้ผ่านพ้นวิกฤตชีวิตได้แน่นอน ส่วนเรื่องคดีความในศาลปกครองนั้น บก.ลายจุดแจ้งว่า มีอาจารย์นิติศาสตร์ท่านหนึ่งช่วยเขียนอุทธรณ์สู้คดีให้กับ ดร.เค็งแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีผู้สอบถามเพิ่มเติมถึงสาเหตุที่มหาวิทยาลัยยื่นฟ้อง เพราะเห็นว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยเป็นฝ่ายเสนอให้ลาออก และปกติการฟ้องร้องผู้หนีไม่ใช้ทุนรัฐบาล ต้องเป็นต้นสังกัดกระทรวงผู้ให้ทุน ไม่ใช่มหาวิทยาลัยที่ทำงานใช้ทุน ซึ่ง บก.ลายจุดเข้ามาคอมเมนต์ ตอบข้อซักถามว่า มีเรื่องแทรกซ้อนในเรื่องนี้ คือ ณ เวลานั้น บริบททางการเมืองค่อนข้างเข็มข้น ประกอบกับดร.เค็งป่วย ได้เขียนอีเมลถึงผู้บริหารและบุคคลากรในองค์กรจำนวนมาก วิพากษ์วิจารณ์ทั้งการบริหารงานและวิจารณ์การเมืองในเวลานั้น ทำให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยไม่พอใจเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ในจดหมายเหล่านั้น ดร.เค็งได้แจ้งผู้บริหาร ว่าเธอมีอาการจิตเวช แต่สุดท้ายก็จบอย่างที่เล่ามา จึงหวังให้มีพื้นที่สื่อที่่สามารถเปิดให้ ดร.เค็งพูดคุยกับหน่วยงานที่ให้ทุน เพื่อทำความเข้าใจเรื่องทั้งหมดและหาทางออกในเรื่องนี้

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark