ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

ความเห็นฝ่ายนายจ้าง ไม่ทบทวนค่าจ้างขั้นต่ำ

ข่าวภาคค่ำ - กรรมการไตรภาคี ฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้าง ให้ความเห็นกรณีนายกรัฐมนตรี สั่งทบทวนการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2567 

ความเห็นฝ่ายนายจ้าง ไม่ทบทวนค่าจ้างขั้นต่ำ
นายอรรถยุทธ ลียะวณิช คณะกรรมการค่าจ้าง ฝ่ายนายจ้าง ระบุว่า ในเมื่อคณะกรรมการไตรภาคี ที่ประกอบไปด้วยฝ่ายลูกจ้าง นายจ้าง และภาครัฐ มีมติเป็นเอกฉันท์ ตกลงกันไปแล้วว่า ภาพรวมทั่วประเทศ ได้ขึ้นค่าจ้างอีก 2-16 บาท ทำให้ค่าจ้างขั้นต่ำอัตราใหม่ ที่จะใช้ในปี 2567 จะอยู่ที่วันละ 330- 370 บาท แตกต่างกันเป็นรายพื้นที่เศรษฐกิจ โดยภาพรวมทั่วประเทศ ได้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 2.37% สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึง กันยายน 2566 อยู่ที่ 2.04%

ฝ่ายลูกจ้าง เรียกร้องคุมราคาสินค้า แก้ปัญหาปากท้อง
ขณะที่ นายวีรสุข แก้วบุญปัน คณะกรรมการค่าจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง ระบุว่า ค่าจ้างขั้นต่ำอัตราใหม่ ถึงแม้ลูกจ้าง จะไม่พอใจ ต่อให้ได้ขึ้นไปถึงวันละ 400 บาท ก็ยังไม่พอกิน พอใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน แต่ที่ตกลงกันได้ในอัตรา 330-370 บาท เป็นจุดสมดุลเป็นค่าจ้างขั้นต่ำ ที่นายจ้างจ่ายไหว ไม่เดือดร้อนกับการประกอบกิจการ ขณะที่ อัตราใหม่ ถึงจะได้ขึ้นน้อย แต่ลูกจ้างก็พออยู่ได้ จึงไม่ได้เรียกร้องค่าจ้างที่สูงเกินไป และประเด็นสำคัญ เพื่อรักษาภาวะการจ้างงานให้คงอยู่ ให้แรงงานมีงานทำ มีรายได้ เป็นเรื่องสำคัญที่สุด พร้อมเสนอให้ภาครัฐ ควบคุมราคาสินค้า แก้ปัญหาข้าวของแพง แก้ไขปัญหาปากท้องให้เป็นรูปธรรม

ขณะที่ สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี และรัฐบาล ขอให้การปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องเป็นธรรม ต้องเลี้ยงคนในครอบครัวได้ตามหลักการสากล และต้องเท่ากันทั้งประเทศ แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และการอพยพแรงงาน ไปทำงานในเมืองใหญ่ ที่มีค่าจ้างสูงกว่า

ในส่วนของกระทรวงแรงงาน ยังไม่ได้เรียกประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง หลังจากที่นายกรัฐมนตรีสั่งทบทวน ไทม์ไลน์การนำเสนอมติคณะกรรมการไตรภาคี ยังเป็นไปตามเดิม ที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในวันที่ 12 ธันวาคมนี้

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark