ข่าวในหมวด ข่าวออนไลน์ News

ชลน่าน สั่งสอบข้อเท็จจริง รพ.เอกชน ปฏิเสธรักษา นทท.ชาวไต้หวัน ลั่น หากมีมูลความจริง เอาผิดถึงที่สุด


เอาผิดถึงที่สุด “ชลน่าน” สั่งสอบข้อเท็จจริง รพ.เอกชน ปฏิเสธรักษา นทท.ชาวไต้หวัน ขณะที่ สบส.- สพฉ.ลงพื้นที่พรุ่งนี้ ให้ความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย

จากกรณีนักท่องเที่ยวชาวไต้หวันถูกรถเฉี่ยวชนจนหมดสติ ทีมกู้ชีพของมูลนิธิได้ทำ CPR และนำส่งโรงพยาบาลเอกชนย่านพัฒนาการ ซึ่งอยู่ใกล้ที่เกิดเหตุประมาณ 500 เมตร แต่ถูกปฏิเสธรับตัวผู้ป่วย และให้นำส่งโรงพยาบาลรัฐที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 10 กิโลเมตรแทน ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตระหว่างนำส่งนั้น

ล่าสุด วันนี้ (12 ธ.ค.66) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ทันทีที่ได้รับรายงาน ตนได้สั่งการให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ส่งเจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยเร่งด่วน หากพบว่าโรงพยาบาลปฏิเสธรับผู้ป่วยจริงตามที่เป็นข่าว จะถือว่ามีความผิดทั้งหลักมนุษยธรรมและหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ให้ดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายอย่างถึงที่สุด

เบื้องต้นจะตรวจสอบใน 2 ประเด็นสำคัญ คือ 1. ช่วงที่ผู้ป่วยถูกส่งตัวมาถึงโรงพยาบาล ได้มีการประเมินและช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งอยู่ในสภาพอันตรายและจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาล เพื่อให้พ้นจากอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพ หรือถ้ามีความจำเป็นต้องส่งต่อเพื่อไปรับการรักษาที่สถานพยาบาลอื่น ได้จัดให้มีการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลอื่นอย่างเหมาะสมหรือไม่ และ 2. โรงพยาบาลมีการประเมินผู้ป่วยว่าเข้าข่ายฉุกเฉินวิกฤติ ตามนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่” (UCEP) หรือไม่

ทั้งนี้ ยืนยันว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการดูแลนักท่องเที่ยวต่างชาติทุกคนที่เดินทางเข้ามาเยือนประเทศไทย จะไม่ปล่อยให้ไม่ได้รับความปลอดภัย หรือถูกกระทำการใดๆ ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยเด็ดขาด

ด้าน นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรม สบส. เผยว่า หลังเกิดเหตุ วันรุ่งขึ้นตนมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่กองกฎหมาย กรม สบส. ดำเนินการตรวจสอบ โดยประสานข้อมูลจากศูนย์วิทยุพระนคร และศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเจ้าหน้าที่รายงานว่าได้นำผู้บาดเจ็บชาวต่างชาติ ส่งโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง แต่เจ้าหน้าที่แผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาลฯ ปฎิเสธที่จะให้บริการรักษาพยาบาลผู้ป่วย เนื่องด้วยผู้ป่วยไม่มีญาติ จึงอาจจะเบิกค่ารักษาพยาบาลไม่ได้ จึงต้องส่งต่อผู้บาดเจ็บไปโรงพยาบาลอื่นแทน แต่ผู้บาดเจ็บได้เสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยวันที่ 10 ธ.ค.66 พนักงานเจ้าหน้าที่กองกฎหมาย ได้ดำเนินการยืนยันข้อมูลกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) อีกครั้ง และพบว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นความจริง จึงมีการหารือร่วมกันระหว่าง สบส. และ สพฉ.เพื่อร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริง

โดยทั้ง 2 หน่วยงาน จะร่วมกันลงพื้นที่โรงพยาบาลเอกชนในวันพรุ่งนี้ (13 ธ.ค.66) เพื่อตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่างๆ และสอบถ้อยคำจากเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลฯ ที่อยู่ในช่วงเวลาเกิดเหตุอย่างถี่ถ้วน เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ทั้ง 2 ฝ่าย หากพบข้อมูลการกระทำผิด หรือพยานหลักฐานที่เชื่อได้ว่าโรงพยาบาลปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติจริง ผู้กระทำผิดจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark