ข่าวในหมวด ข่าวออนไลน์ News

ปคบ. ทลายโรงงานลูกชิ้นเถื่อน ผสมสารฟอกขาว ส่งขายทั่วตลาดกว่า 10 แห่ง ยึดของกลางกว่า 2.4 แสนบาท


ทลายโรงงานลูกชิ้นเถื่อน ผสมสารฟอกขาว ส่งขายทั่วกรุงเทพ-ปริมณฑล กว่า 10 แห่ง ปลายทางร้านก๋วยเตี๋ยว ยึดของกลางกว่า 2.4 แสนบาท อ้างเนื้อหมูแท้ แต่ใช้เนื้อไก่-เศษหมูผสม ลดต้นทุน

วันนี้ (19 ธ.ค.66) พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. สั่งการให้ พ.ต.อ.สำเริง อำพรรทอง, พ.ต.อ.ณัฐวัฒน์ เกศะรักษ์, พ.ต.อ.ปัญญา กล้าประเสริฐ, พ.ต.อ.ชัฎฐ นากแก้ว, พ.ต.อ.ภาคภูมิ ศรีลาภะมาศ, พ.ต.อ.อนุวัฒน์  รักษ์เจริญ รอง ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.วีระพงษ์ คล้ายทอง ผกก.4  บก.ปคบ., และเจ้าหน้าที่ กก.4 บก.ปคบ. ปฏิบัติการเข้าตรวจค้นทลายโรงงานลูกชิ้นเถื่อนย่าน ต.คลองสี่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี พร้อมตรวจยึดของกลางกว่า 13 รายการ มูลค่ากว่า 240,000 บาท

สืบเนื่องจากประมาณปลายเดือน ม.ค.65 ปรากฏข่าวเด็ก 6 คน รับประทานไส้กรอกไม่มียี่ห้อแล้วมีอาหารคลื่นไส้ เวียนศีรษะ หายใจเร็ว และเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล จากเหตุการณ์ดังกล่าว เพื่อป้องกันเหตุไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นอีก เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ.จึงมีมาตรการเชิงรุก ติดตามเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปที่มีความเสี่ยงต่อผู้บริโภคที่อาจซื้อมารับประทาน และได้รับอันตรายแก่ร่างกายหรือเสียชีวิตเรื่อยมา

ต่อมาจากการสืบสวนหาข่าว พบว่ามีโรงงานผลิตลูกชิ้นเถื่อนแห่งหนึ่งย่าน จ.ปทุมธานี ลักลอบผลิตลูกชิ้นหมูจำนวนมากในสถานที่ไม่ถูกสุขลักษณะ แพ็กบรรจุส่งขายตามตลาดนัดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑลหลายแห่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงลงพื้นที่สืบสวนจนทราบถึงแหล่งผลิตลูกชิ้นดังกล่าว

กระทั่งวันที่ 18 ธ.ค.66 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้นำหมายค้นศาลจังหวัดธัญบุรี เข้าทำการตรวจค้นบ้านพักอาศัยหลังหนึ่ง ที่ดัดแปลงเป็นโรงงานผลิตลูกชิ้น หมู่ 2 ต.คลอง 4 อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี พบ น.ส.ธันย์ดารินทร์ (สงวนนามสกุลจริง) แสดงตนเป็นเจ้าของกิจการผลิตลูกชิ้น จึงตรวจยึด 1.ลูกชิ้นบรรจุถุงกว่า 170 ถุง  2.ถุงบรรจุภัณฑ์สำหรับใส่ลูกชิ้น จำนวน 700 ใบ 3. กะละมังสำหรับใช้ผสมเครื่องปรุง 1 อัน 4.เครื่องตีลูกชิ้น 1 เครื่อง 5.เครื่องบดหมู 1 เครื่อง  6.เครื่องผสมหมู 1 เครื่อง 7.หม้อต้มลูกชิ้น 4 ใบ และ 8. อุปกรณ์ในการผลิตลูกชิ้นพร้อมส่วนผสมต่างๆ ที่เป็นความผิด ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 กว่า 13 รายการ

การตรวจค้นครั้งนี้ยังพบว่า โรงงานดังกล่าวใช้แรงงานมนุษย์ในการผลิต ตวง และผสมส่วนผสมต่างๆ ในการผลิตลูกชิ้นโดยไม่สวมหมวกคลุมศีรษะและถุงมือเพื่อรักษาความสะอาดแต่อย่างใด อีกทั้งยังพบว่าขาดสุขลักษณะ ไม่ผ่านเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด โดยผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นหมูที่มีการโฆษณาว่าเป็นเนื้อหมูแท้นั้น พบว่าเจ้าของโรงงานได้ลักลอบนำเนื้อไก่มาผสมกับเศษของเนื้อหมูเพื่อเป็นการลดต้นทุนในการผลิต ทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิด และอาจซื้อไปบริโภคได้โดยไม่ทราบถึงส่วนผสมที่แท้จริงของอาหารที่รับประทานเข้าไป

ซึ่งน.ส.ธันย์ดารินทร์ รับสารภาพว่า ได้ผลิตลูกชิ้นโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก อย.และ สสจ.ปทุมธานี แต่อย่างใด โดยลูกชิ้นหมูยี่ห้อดังกล่าวไม่แสดงเลขสารบบอาหาร (ไม่ผ่าน อย.) ซึ่งเศษเนื้อหมูและเนื้อไก่ที่ใช้เป็นวัตถุดิบซื้อมาจากตลาดไท โดยมีการผสมสารฟอกขาว (titanium Dioxide) และวัตถุกันเสีย (Sodium benzoate) แล้วนำมาผลิตเป็นลูกชิ้นที่ไม่ได้มาตรฐานส่งขายให้ลูกค้าตามตลาดสดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล รวมกว่า 10 แห่ง อาทิเช่น ห้วยขวาง, ลาดปลาเค้า, สายไหม, ตลิ่งชัน, ตลาดยิ่งเจริญ, ตลาดฐานเพชรปทุมธานี และสามโคก ปทุมธานี ฯลฯ ซึ่งกลุ่มลูกค้าที่รับลูกชิ้นไปจำหน่าย คือ กลุ่มขายส่งวัตถุดิบสำหรับขายบะหมี่หรือก๋วยเตี๋ยว โดยผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นวันละประมาณ 200 กิโลกรัม เฉลี่ยเดือนละ 3,000 กิโลกรัม

เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ฐาน “จำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง” ระวางโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท หลังจากนี้เจ้าหน้าที่จะนำตัวอย่างอาหารส่งตรวจวิเคราะห์หาสารบอแรกซ์ ชนิดและปริมาณวัตถุกันเสีย และจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หากพบสารต้องห้ามในอาหารเพิ่มเติม จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ฐาน“ผลิตอาหารไม่บริสุทธิ์” ระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

พล.ต.ต.วิทยา ฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชน อย่าซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ทราบที่มาของแหล่งผลิต ไม่ว่าจะเป็นการซื้อจากร้านค้าทั่วไป หรือแหล่งขายทางออนไลน์ เพราะอาจเกิดอันตรายจากการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน และไม่ปลอดภัยต่อการบริโภค และขอเตือนไปยังผู้ที่ลักลอบผลิตหรือจำหน่ายอาหารที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน  ไม่ว่าจะเป็นโรงงานผลิตหรือตัวแทนจำหน่าย ให้หยุดพฤติการณ์ดังกล่าวทันที หากตรวจพบจะดำเนินคดีโดยเด็ดขาด และหากพี่น้องประชาชนพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน บก.ปคบ. 1135 หรือเพจ ปคบ. เตือนภัยผู้บริโภคได้ตลอดเวลา

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark