ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

พิพากษาคดีน้องชมพู่ จ.มุกดาหาร

ห้องข่าวภาคเที่ยง - ไปกันที่จังหวัดมุกดาหาร ศาลได้นัดฟังคำพิพากษาในคดีน้องชมพู่ หลังเลื่อนอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม มาเป็นวันนี้ กว่า 3 ปีแล้ว ที่เกิดคดีฆาตกรรม น้องชมพู่ บนภูเหล็กไฟ เป็นคดีมหากาพย์ที่หลายคนจับตามองว่าแท้จริงแล้วเป็นฝีมือของใครกันแน่ โดยวันนี้ ศาลมุกดาหาร ได้นัดอ่านคำพิพากษาตั้งแต่ช่วง 10.00 น. เป็นต้นมา บรรยากาศจะเป็นอย่างไร คุณชนะชัย แก้วผาง เกาะติดบรรยากาศอยู่ที่ด้านหน้าศาลจังหวัดมุกดาหาร

ทีมข่าวยังเกาะติดบรรยากาศการอ่านคำพิพากษาคดีฆาตกรรม น้องชมพู่ อยู่บริเวณหน้าทางเข้าศาลจังหวัดมุกดาหาร เหตุผลที่เราต้องยืนอยู่จุดนี้ เพราะทางศาลไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนและเหล่ายูทูบเบอร์เข้าไปด้านในศาลเป็นเด็ดขาด รายงานข่าวได้เฉพาะด้านหน้าทางเข้า แน่นอนว่าทุกคนต่างก็รอคอยคำตัดสินคดีน้องชมพู่ คดีมหากาพย์กว่า 3 ปี

เมื่อชั่วโมงที่ผ่านมา ทั้งฝ่ายจำเลย อย่าง นายไชย์พล วิภา หรือ ลุงพล และ ป้าแต๋น รวมถึงอีกฝ่าย คือ ครอบครัวน้องชมพู่ และทนาย ได้เดินเข้ามาฟังคำพิพากษาตั้งแต่ช่วง 10.00 น.ที่ผ่านมา ตามการนัดหมายของศาลจังหวัดมุกดาหาร โดยฝ่ายของจำเลย อย่าง ลุงพล และ ป้าแต๋น พร้อมทนาย  รวมถึง ผู้ติดตามเกือบ 10 คน ได้เดินทางมาถึงศาลจังหวัดมุกดาหาร ก่อนเดินเข้าไปภายในศาล

จากนั้นประมาณ 10 นาที นายอนามัย และ นางสาวิตรี วงศ์ศรีชา พ่อแม่น้องชมพู่ พร้อมทนาย ก็เดินเข้าไปในศาล ท่ามกลางการเกาะติดบรรยากาศของกองทัพสื่อและเหล่ายูทูบเบอร์บ้านกกกอกจำนวนมากที่อยู่ด้านหน้าทางเข้าศาล

เมื่อคืนนี้ทาง ลุงพล และ ป้าแต๋น พร้อมทนายความ ได้ร่วมกันตั้งโต๊ะแถลงข่าวที่โรงแรมแห่งหนึ่งในเมืองมุกดาหาร โดย ลุงพล ยังคงมั่นใจเหมือนเดิมล้านเปอร์เซ็นต์ เพราะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีฆาตกรรม น้องชมพู่ ซึ่งเป็นหลานสาว ถ้าหากศาลตัดสินว่าผิด ก็ต่อสู้ไปตามกระบวนการกฎหมาย ซึ่งได้ปรึกษาทนายความ และบริษัทประกัน เตรียมการไว้แล้ว เพื่อประกันต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ ส่วนในขั้นตอนการสืบพยาน ไม่มีพยานบุคคล หรือหลักฐานอื่นที่เหนือความคาดหมาย แม้จะมีพยานอ้างว่า เห็นตนในพื้นที่ที่สามารถไปจุดเกิดเหตุได้ ก็ไม่หนักใจ เพราะเป็นแค่เรื่องบอกเล่า หลักฐานที่จะทำให้ตนชนะคดี ไม่มีอะไรพิเศษ แค่สู้และนำสืบไปตามความจริงที่เกิดขึ้น

ส่วนเมื่อวานนี้ พ่อแม่น้องชมพู่ ได้เดินทางไปที่วัดป่าภูผาแอก ในบ้านกกกอก อำเภอดงหลวง เพื่อทำความสะอาดบริเวณเจดีย์ หรือธาตุเก็บกระดูก พร้อมจุดธูปบอกกล่าวดวงวิญญาณของลูกสาว

นางสาวิตรี เปิดเผยว่า ส่วนตัวไม่รู้สึกกังวล เพราะไม่ว่าศาลจะตัดสินออกมาอย่างไร จะเคารพคำตัดสิน ทางครอบครัวรับได้ทุกอย่าง ไม่ได้เจาะจงว่าจะชี้ให้คนนี้เป็นคนร้ายให้ได้ เชื่อตามหลักฐาน เชื่อที่ตำรวจ และระบบยุติธรรมทำงาน หากศาลยกฟ้องก็มีการอุทธรณ์ฎีกาตามขั้นตอนเหมือนทุกคดี หากศาลพิพากษาเอาผิดจำเลย ก็จะปรึกษาทนายความและอัยการเพื่อคัดค้านการประกัน

ล่าสุด ศาลมุกดาหาร สั่งจำคุก ลุงพล 20 ปี คดีน้องชมพู่ ยกฟ้องป้าแต๋น

ศาลจังหวัดมุกดาหาร อ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ. 1013/2564 ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดมุกดาหาร โจทก์ นาง สาวิตรีวงศ์ศรีชา โจทก์ร่วมที่ 1 นายอนามัย วงศ์ศรีชา โจทก์ร่วมที่ 2 กับ นายไชย์พล หรือพล วิภา จำเลยที่ 1 และ น.ส.สมพร หรือแต๋น หลาบโพธิ์ จำเลยที่ 2 โดยมีโจทก์ร่วมทั้งสองยื่นคำร้องขอเรียกค่าสินไหมทดแทนทางแพ่ง

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 11 พ.ค.2563 จำเลยที่ 1 พราก ด.ญ.ชมพู่ อายุ 3 ปีเศษ ซึ่งเป็นเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากโจทก์ร่วมทั้งสองมารดาและบิดาโดยปราศจากเหตุอันสมควร เมื่อระหว่างวันที่ 11-13 พ.ค. 2563 จำเลยที่ 1 โดยเจตนาฆ่า นำด.ญ.ชมพู่ ซึ่งเป็นเด็กอายุยังไม่เกินเก้าปีไปทอดทิ้ง ณ เขาภูเหล็กไฟ เพียงลำพังโดยไม่มีอาหารและน้ำดื่ม เพื่อให้ด.ญ.ชมพู่ พ้นไปเสียจากตน โดยประการที่ทำให้เด็กนั้นปราศจากผู้ดูแล เป็นเหตุให้ด.ญ.ชมพู่ ถึงแก่ความตาย และเมื่อระหว่างวันที่ 13-14 พ.ค.2563 ภายหลังผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว ก่อนการชันสูตรพลิกศพเสร็จ จำเลยทั้งสองร่วมกันเคลื่อนย้ายศพผู้ตายแล้วถอดเสื้อผ้าและกางเกงออกเพื่อให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ที่พบศพเข้าใจว่า ผู้ตายถูกล่วงละเมิดทางเพศและถูกทำร้ายถึงแก่ความตาย ในประการที่น่าจะทำให้การชันสูตรพลิกศพผู้ตายหรือผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไป

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า บริเวณที่พบศพ ด.ญ.ชมพู่ ผู้ตายอยู่บนเขาภูเหล็กไฟ ห่างจากจุดที่มีคนพบเห็นผู้ตายครั้งสุดท้ายประมาณ 1-5 กิโลเมตร และเป็นทางลาดชัน ประกอบกับบริเวณดังกล่าวมีการตรวจพบเส้นผมผู้ตายหลายเส้นที่มีลักษณะถูกตัดด้วยของแข็งมีคม จึงเชื่อว่าผู้ตายซึ่งมีอายุเพียง 3 ปีเศษ ไม่สามารถเดินขึ้นไปถึงบริเวณที่พบศพและใช้ของแข็งมีคมตัดเส้นผมของตนเองได้ แต่ต้องมีคนร้ายพาผู้ตายไป

ปัญหาต่อมาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นคนร้ายหรือไม่ เห็นว่า ประการแรก ในวันเกิดเหตุ เวลาประมาณ 9.00 น. ผู้ตายเล่นอยู่บริเวณหน้าบ้านพักและมีเด็กหญิง ก. พี่สาวผู้ตายนอนเล่นโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่ใกล้เคียง กระทั่งเวลาประมาณ 9.50 น.เด็กหญิง ก. มองหาผู้ตายไม่เห็นจึงออกตามหา ดังนั้น ผู้ตายต้องหายตัวไปก่อนช่วงเวลาดังกล่าว โดยเด็กหญิง ก. เบิกความว่าไม่ได้ยินเสียงผู้ตายร้องแต่อย่างใด เชื่อว่า คนร้ายที่พาผู้ตายไป ต้องเป็นญาติหรือบุคคลใกล้ชิดในหมู่บ้านที่ผู้ตายรู้จักดี เนื่องจากผู้ตายจะร้องไห้หากถูกคนแปลกหน้าอุ้ม เจ้าพนักงานตำรวจจึงสืบสวนกลุ่มบุคคลดังกล่าว 14 คน แบ่งเป็นญาติ 12 คน และบุคคลใกล้ชิด 2 คน พบว่า 13 คน มีหลักฐานยืนยันที่อยู่หรือตำแหน่งอ้างอิงจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ชัดเจน ยกเว้นจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่สามารถยืนยันฐานที่อยู่ได้แน่ชัดในเวลาที่ผู้ตายหายตัวไป

ประการที่สอง จำเลยที่ 1 ให้การเป็นข้อพิรุธหลายอย่าง อาทิ จำเลยที่ 1 ให้การกับเจ้าพนักงานตำรวจชุดสืบสวนว่า วันเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 มีนัดไปรับพระ ส. ที่วัดถ้ำภูผาแอก ขณะเดินทางไปวัด จำเลยที่ 2 โทรศัพท์แจ้งจำเลยที่ 1 ว่า ผู้ตายหายตัวไป แต่ครอบครัวของจำเลยทั้งสองมีโทรศัพท์เคลื่อนที่เพียงเครื่องเดียว ซึ่งอยู่กับจำเลยที่ 2 จึงเป็นไปไม่ได้ที่จำเลยที่ 2 จะโทรศัพท์แจ้งเรื่องแก่จำเลยที่ 1 อีกทั้งพระ บ. ซึ่งจำวัดอยู่ที่วัดถ้ำภูผาแอกเช่นกันยืนยันว่า วันดังกล่าว เวลาประมาณ 10.00 น. จำเลยที่ 1 เดินทางไปถึงวัดและพูดกับพระ บ. ว่า หลานหายเกือบไม่ได้ไปส่งพระ ทั้งที่ในขณะนั้น จำเลยที่ 1 ซึ่งไม่มีโทรศัพท์เคลื่อนที่ติดตัวต้องยังไม่ทราบเหตุว่า ผู้ตายหายตัวไป

ประการที่สาม พยานโจทก์ปากนาย ว. และนาง พ. ให้การในชั้นสอบสวนว่า พยานเห็นจำเลยที่ 1 อยู่บริเวณสวนยางพารา ซึ่งเป็นทางเดินที่สามารถเข้าถึงจุดที่ผู้ตายหายตัวไป ในช่วงเวลาที่คนร้ายลงมือกระทำความผิด โดยขณะที่มีการสอบสวนเรื่องนี้ จำเลยที่ 1 พยายามไปพูดคุยกับนาย ว. ให้ นาย ว. บอกเจ้าพนักงานตำรวจว่า นาย ว. พบจำเลยที่ 1 ในช่วงเวลา 7.00 น. ไม่ใช่ช่วงเวลาที่เกิดเหตุ เพื่อไม่ให้เจ้าพนักงานตำรวจสงสัยจำเลยที่ 1 จึงเป็นข้อพิรุธว่า หากจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำความผิด เหตุใดต้องพูดจาในลักษณะดังกล่าวกับพยานที่ให้การต่อเจ้าพนักงานตำรวจ ตามข้อเท็จจริงที่ตนรู้เห็น แม้ต่อมาในขณะสืบพยาน นาง พ. จะเบิกความว่า ตนไม่ได้เห็นจำเลยที่ 1 บริเวณสวนยางพารา แต่ก็เป็นการกลับคำภายหลังเกิดเหตุกว่า 2 ปี ซึ่งอาจทำเพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 1 คำให้การในชั้นสอบสวนของนาง พ. จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือยิ่งกว่า

ประการสุดท้าย ภายหลังเจ้าพนักงานตำรวจตั้งข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นคนร้าย จึงมีการเข้าตรวจค้นรถยนต์ จำเลยที่ 1 พบเส้นผม 16 เส้น และวัตถุพยานอื่น โดยผลการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ ประกอบกับคำเบิกความของพยานผู้เชี่ยวชาญปรากฏว่า เส้นผม 1 เส้น ที่ตกอยู่ในรถยนต์จำเลยที่ 1 มีองศาของรอยตัด หน้าตัด และพื้นผิวด้านข้างตรงกันกับเส้นผมผู้ตาย 2 เส้น ซึ่งตรวจเก็บได้จากบริเวณที่พบศพผู้ตาย เส้นผมทั้ง 3 เส้นดังกล่าว จึงถูกตัดในคราวเดียวกันด้วยวัตถุของแข็งมีคมชนิดเดียวกัน เชื่อว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้ของแข็งมีคมตัดเส้นผมผู้ตาย แต่ด้วยเหตุที่เส้นผมมีขนาดเล็กมาก จำเลยที่ 1 จึงไม่สังเกตว่ามีเส้นผมผู้ตายเส้นหนึ่งตกอยู่ในรถยนต์ของตน

ทั้งนี้ การสืบสวนสอบสวนของเจ้าพนักงานตำรวจในคดีนี้ไม่ได้มุ่งเป้าไปยังจำเลยที่ 1 มาแต่แรก หากเกิดจากการรวบรวมพยานหลักฐานและตั้งข้อสันนิษฐานอย่างเป็นลำดับขั้นตอนดังวินิจฉัยไว้ข้างต้น โดยไม่ปรากฏว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องคนใดมีสาเหตุโกรธเคืองหรือมูลเหตุชักจูงใจในการใส่ร้ายจำเลยที่ 1 จึงเชื่อว่า จำเลยที่ 1 เป็นคนร้ายที่พาผู้ตายขึ้นไปบนเขาภูเหล็กไฟ

ปัญหาต่อมาต้องวินิจฉัยว่า ขณะพาผู้ตายขึ้นไปบนเขาภูเหล็กไฟ จำเลยที่ 1 รู้หรือไม่ว่า ผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว หรือยังมีชีวิตอยู่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับโจทก์ร่วมทั้งสองหรือผู้ตายมาก่อน จึงไม่น่าเชื่อว่า จำเลยที่ 1 มีเจตนาฆ่าหรือเจตนาทอดทิ้งผู้ตาย ประกอบกับรายงานการตรวจศพผู้ตายพบรอยช้ำใต้หนังศีรษะ บริเวณหน้าผากด้านซ้ายและท้ายทอยเป็นจ้ำๆ จึงอาจเป็นกรณีที่ผู้ตายหมดสติไป ส่วนจำเลยที่ 1 ไม่ได้ตรวจดูให้ดีเลยพาผู้ตายไปทิ้งไว้บนเขาภูเหล็กไฟ การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

ส่วนที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันเคลื่อนย้ายศพฯ นั้น เห็นว่า ภายหลังวันเกิดเหตุจนถึงวันที่พบศพผู้ตาย โจทก์ไม่มีพยานคนใดเบิกความว่าเห็นจำเลยทั้งสองขึ้นไปบนเขาภูเหล็กไฟ แม้ผลการตรวจเส้นผม 3 เส้น จากบริเวณที่พบศพผู้ตายมี mtDNA ตรงกับจำเลยที่ 2 แต่การตรวจหา mtDNA นั้น ไม่สามารถใช้ระบุตัวบุคคลได้ เพียงแต่ระบุได้ว่าเป็นเส้นผมของบุคคลที่อยู่ในสายมารดาเดียวกับผู้ตายเท่านั้น เส้นผมดังกล่าวจึงไม่จำต้องเป็นของจำเลยที่ 2 เพียงผู้เดียว เห็นควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยทั้งสองในข้อหานี้

พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 319 วรรคแรก ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุก 10 ปี ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา โดยปราศจากเหตุอันสมควร จำคุก 10 ปี ข้อหาอื่นสำหรับจำเลยที่ 1 ให้ยก และยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 กับให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าสินไหมทดแทนทางแพ่งให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสอง

อนึ่ง คดีนี้อธิบดีผู้พิพากษาภาค 4 และผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดมุกดาหารตรวจสำนวนและทำความเห็นแย้งว่า พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองมีข้อสงสัยตามสมควร ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 1 เห็นควรพิพากษายกฟ้อง จึงให้รวมไว้ในสำนวน ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 11 (1)

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark