ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

ผู้เสียหายเปิดใจ นาทีเด็กเช็ดกระจกทุบรถยนต์ หลังเมินไม่จ่ายเงินค่าบริการ

สนามข่าว 7 สี - คุณเคยเจอเด็กเช็ดกระจกแถว ๆ แยกไฟแดงบ้างไหม เด็กบางคนก็จะมาด้วยความนอบน้อม ขอความเห็นใจ แต่ไม่ใช่กับกรณีนี้ คือทำทุกอย่างตรงกันข้าม ถ้าใครไม่ใช้บริการ ไม่ให้เงิน ก็จะแสดงความก้าวร้าวตอบโต้กลับทันที

เดินมาถึงรถยนต์ แล้วก็ทุบกระโปรงรถไป 1 ครั้ง จากนั้นเดินมาทุบประตูรถซ้ำอีก 2 ครั้ง ก่อนจะชี้หน้าผ่านกระจก ประมาณว่า "ระวังตัวให้ดีเถอะ" แถมพอไฟเขียวปุ๊บ ก็ฉีดน้ำใส่กระจกรถยนต์ฝั่งคนขับส่งท้ายอีก คล้ายกำลังท้ารบแสดงความกร่างใส่เจ้าของรถคนนี้

ผู้เสียหายเปิดใจกับทีมสนามข่าว 7 สี ว่า วันที่เกิดเหตุระหว่างติดไฟแดงอยู่ที่สี่แยกสุขุมวิท - อโศก เห็นเด็กคนนี้กำลังเช็ดกระจกให้รถยนต์อีกคันหนึ่งอยู่ แต่คนในรถไม่เปิดกระจกจ่ายเงิน เด็กคนนี้ก็ทุบกระจกรถ จนอีกฝ่ายต้องยื่นเงินให้

เมื่อได้เงินแล้ว เด็กคนนี้ก็เดินมาที่รถยนต์ของตน ถือวิสาสะเช็ดกระจกหน้ารถของตน ที่ระหว่างนั้นก็หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาถ่ายคลิปไว้ด้วย เมื่อเด็กคนดังกล่าวเห็นก็ไม่พอใจ ทำท่าทางเดินหนีไป แต่สุดท้ายก็เดินกลับมาทุบรถ และชี้หน้าพร้อมใช้ถ้อยคำหยาบคายพูดใส่

ทีมข่าวลงพื้นที่สำรวจจุดเกิดเหตุที่แยกอโศก ไม่พบเด็กคนดังกล่าว แต่ได้ข้อมูลว่า เด็กชายคนนี้จะหากินด้วยวิธีเช็ดกระจกรถอยู่หลัก ๆ 2 จุด คือ สี่แยกสุขุมวิท-อโศก และสี่แยกคลองเตย ที่อยู่ไม่ไกลกันมากนัก โดยคนในพื้นที่ ทั้ง 2 จุด ยืนยันว่าเด็กคนนี้มีพฤติกรรมที่แสบเกินจะควบคุมอยู่

จริง ๆ ปมเด็กเช็ดกระจกก็มีข้อมูลจากคนแถวนั้น บอกว่า ไม่ได้มีเพียงเด็กคนนี้ที่ก่อเหตุ ยังมีเด็กคนอื่น ๆ อีก และหลายครั้ง ตำรวจรับแจ้งเหตุเข้ามาดูแลความปลอดภัยให้คนใช้รถใช้ถนน ก็ทำได้แค่ไล่ให้เด็ก ๆ ออกจากพื้นที่ดังกล่าวเท่านั้น พอลับหลังตำรวจไป เด็กก็ไม่สลด หนำซ้ำยังชอบตะโกนด่าตำรวจแล้วรีบวิ่งหนีไปอีก

ซึ่งเรื่องนี้ถ้ายังจำกันได้ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ พม. ตกลงแก้ปัญหาเด็กยึดถนนตามแยกต่าง ๆ ใน กทม. ทำมาหากิน โดยโฟกัสที่สร้างความตระหนักให้ผู้ปกครองรู้กฎหมาย ไม่ละเมิดสิทธิเด็ก และเสริมองค์ความรู้ด้านอาชีพเสริมให้ผู้ปกครองไปใช้ทำมาหากิน

โดยเจ้ากระทรวง พม. นายวราวุธ ศิลปอาชา บอกว่า หลังทำตามมาตรการข้างต้น ก็ยังพบว่าปัญหานี้เรื้อรังจากแนวคิดของผู้ปกครองที่ได้ประโยชน์จากเด็กจนมองข้ามความปลอดภัยของลูกหลาน

เหมือนอย่างเด็กที่อยู่ในคลิป เจ้าหน้าที่ พม. ก็ลงพื้นที่คุยกับผู้ปกครอง 2-3 ครั้งแล้ว แต่ก็ยังเจอเด็กหากินอยู่อีก

ก็น่าหดหู่ที่บางครอบครัวใช้ลูกหลานตัวเองมาช่วยแบ่งเบาภาระ จากนี้อาจถึงเวลาต้องใช้ไม้หนักแทนไม้นวมหรือไม่ ไม่เช่นนั้นปัญหาเด็กหากิน ยึดถนนที่แยกต่าง ๆ จะไม่หมดไปง่าย ๆ

ส่วนวิธีรับมือถ้าเจอเด็ก ๆ ตามแยกต่าง ๆ อาจจะโบกมือส่งสัญญาณว่าเราไม่ต้องการบริการใด ๆ หรือเลื่อนรถหนีถ้าพอจะมีช่องทางให้ขยับรถได้ หรือใช้วิธีก้มหน้าหาของเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark