ข่าวในหมวด ข่าวออนไลน์ News

10 อันดับประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกในปี 2023


#เศรษฐศาสตร์ตลาดสด IMF ได้ประกาศอันดับประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกในปี 2023

10 อันดับแรก ดังนี้

1. สหรัฐอเมริกา มีมูลค่าจีดีพี 26.95 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
2. จีน มีมูลค่าจีดีพี 17.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
3. เยอรมนี มีมูลค่าจีดีพี 4.43 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
4. ญี่ปุ่น มีมูลค่าจีดีพี 4.23 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
5. อินเดีย มีมูลค่าจีดีพี 3.73 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
6. สหราชอาณาจักร มีมูลค่าจีดีพี 3.33 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
7. ฝรั่งเศส มีมูลค่าจีดีพี 3.05 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
8. อิตาลี มีมูลค่าจีดีพี 2.19 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
9. บราซิล มีมูลค่าจีดีพี 2.13 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
10.  แคนาดา มีมูลค่าจีดีพี 2.12 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

เห็นได้ว่าเยอรมนีแซงญี่ปุ่นขึ้นมา เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐและเงินยูโร ญี่ปุ่นดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอัตราดอกเบี้ยติดลบ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะเงินฝืด ซึ่งสวนทางกับธนาคารกลางสหรัฐ และธนาคารกลางยุโรปได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อรับมือกับอัตราเงินเฟ้อ

อิตาลีและบราซิลแซงนำหน้าแคนาดาและรัสเซีย โดยรัสเซียตกไปอยู่อันดับที่ 11 แทน ซึ่งเป็นผลพวงจากสงครามรัสเซียและยูเครน ในขณะที่บราซิลได้ปัจจัยหนุนเรื่องการลงทุนจากต่างประเทศ การส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง แร่ น้ำตาล สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมมากขึ้น  สำหรับประเทศอื่นในเอเชีย ได้แก่ เกาหลีใต้อยู่ในอันดับที่ 13 มีมูลค่าจีดีพี 1.71 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ อินโดนีเซีย อยู่อันดับที่ 16 มีมูลค่าจีดีพี 1.42 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และซาอุดีอาระเบีย อยู่ที่อันดับที่ 19 มีมูลค่าจีดีพี 1.07 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

“แนวโน้มเศรษฐกิจโลกปี 2567” เศรษฐกิจโลกยังอยู่ในช่วงชะลอตัว ทั้งเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่สูง อัตราเงินเฟ้อ ราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น และการชะลอตัวของเศรษฐกิจสองอันดับแรกของโลก คือ สหรัฐอเมริกาและจีน ประกอบกับความตึงเครียดของปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางและอาจจะมีปะทุขึ้นในพื้นที่อื่น ล้วนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในปีนี้ อ้างอิงข้อมูลจาก world economic forum คาดการณ์ว่าอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจโลกอาจชะลอตัวลงจากร้อยละ 2.9 เหลือร้อยละ 2.6 ในปี 2567 นี้ ในขณะที่การคาดการณ์ล่าสุดของธนาคารโลกระบุว่าเศรษฐกิจโลกจะยังคงอ่อนแอและมีความเสี่ยงที่จะเกิดการชะลอตัวมาในปี 2567 การเติบโตทั่วโลกชะลอตัวจากร้อยละ 3.1 ในปี 2565 เป็นร้อยละ 2.1 ในปี 2566 ก่อนที่จะปรับเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยขึ้นมาร้อยละ 2.4 ในปี 2567

สหรัฐอเมริกามีแนวโน้มเศรษฐกิจขยายตัวในอัตราที่ลดลงจากปี 2566 เนื่องจากแรงส่งจากการฟื้นตัวและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังการระบาดของโควิด-19 เริ่มหมดไป ที่เห็นชัดเจน คือ นโยบายการเงินที่ตึงตัวของธนาคารกลางในประเทศยังคงดำเนินต่อเนื่อง อัตราดอกเบี้ยที่ยังคงระดับสูง OECD คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ 1.5  สำหรับเศรษฐกิจจีนมีปัญหาสะสมเรื่องภาคอสังหาริมทรัพย์ หนี้ของรัฐบาลท้องถิ่นอยู่ในระดับสูง การชะลอตัวการลงทุน การบริโภคภายในประเทศยังไม่ฟื้นตัว ประกอบกับมาตรการภาครัฐยังไม่สัมฤทธิ์ผลเต็มที่ IMF คาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่ถึงเป้าร้อยละ 5 โดยคาดการณ์ไว้ประมาณร้อยละ 4.6 ซึ่งสอดคล้องกับ OECD ที่คาดการณ์ไว้ว่า เศรษฐกิจจีนจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ร้อยละ 4.7

ปี 2567 นี้เศรษฐกิจโลกยังคงอยู่ในช่วงชะลอตัว โดยเฉพาะจับตาดูเศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจอย่างจีนที่ยังมีหลายปัจจัยรุมเร้า

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark