ข่าวในหมวด ข่าวออนไลน์ News

ผวาเหตุแทงเด็ก ม.2 นักเรียน-ครู 48 คน มีภาวะความเครียด


ผวาเหตุแทงเด็ก ม.2 นักเรียน 36 คน และครู 12 คน มีภาวะความเครียด สธ.ได้ให้การปรึกษารายบุคคล วางแผนเยียวยาจิตใจในระยะยาว หมอแนะวิธีสังเกตเด็กเพื่อลดความรุนแรง

แทงเด็กนักเรียน ม.2 โรงเรียนย่ายนพัฒนาการ วันนี้ (30 ม.ค.67) นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า ได้ส่งทีม MCATT จากสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ สถาบันราชานุกูล ศูนย์สุขภาพจิตที่ 13 ร่วมกับ ศูนย์บริการสาธารณสุขที่ 37 สำนักอนามัย กรุงเทพฯ ลงพื้นที่ช่วยเหลือเยียวยาจิตใจเบื้องต้นกับนักเรียนและบุคลากรครู ทั้งสิ้น 67 คน แบ่งเป็น นักเรียน 55 คน และบุคลากรครู 12 คน เบื้องต้นพบว่านักเรียน 36 คน และครู 12 คน มีภาวะความเครียด ได้ให้การปรึกษารายบุคคล รวมถึงวางแผนร่วมกับผู้บริหารโรงเรียนในการดูแลเยียวยาจิตใจในระยะยาวต่อไป โดยจะส่งเจ้าหน้าที่จาก สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา เข้าร่วมปฏิบัติงานเพิ่มเติม

พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า วิธีการสังเกตว่าจะมีความรุนแรง คือ การเปลี่ยนแปลงทางความคิด อารมณ์ พฤติกรรม เช่น คิดว่าตนเองไม่ดี คนอื่นไม่ดี คิดอยากทำร้ายตนเองหรือผู้อื่น อารมณ์หงุดหงิดง่าย หรือ ซึมเศร้า พฤติกรรมก้าวร้าว พูดคำหยาบคาย หรือแยกตัว

หากสงสัยว่าบุตรหลานของตนอาจเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง มีข้อแนะนำดังนี้ 1.สังเกตร่องรอยการถูกทำร้ายตามร่างกาย พฤติกรรม หรืออารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของเด็ก เช่น มีอาการหวาดกลัว มีพฤติกรรมถดถอย ก้าวร้าว ซึมเศร้า หรือกลัวการแยกจากผู้ปกครองมากขึ้น 2.ใส่ใจรับฟัง ใช้เวลาพูดคุยมากขึ้น เข้าใจในสิ่งที่ลูกกำลังสื่อสารโดยไม่ด่วนตัดสิน อาจเริ่มต้นจากคำถามง่ายๆ เช่น “วันนี้เป็นอย่างไรบ้าง” “วันนี้มีความสุขกับอะไรบ้าง” “วันนี้เพื่อนและครูเป็นอย่างไรบ้าง” “วันนี้ไม่ชอบอะไรที่สุด” เมื่อสงสัยว่าลูกถูกกระทำความรุนแรง สามารถใช้การสนทนาด้วยประโยคง่ายๆ เช่น “ถ้ามีใครทำให้ลูกเจ็บหรือเสียใจ เล่าให้พ่อแม่ฟังได้นะ เราจะได้ช่วยกัน” ในกรณีที่เด็กไม่สามารถเล่าหรือตอบได้ อาจใช้ศิลปะหรือการเล่นผ่านบทบาทสมมุติเพื่อเป็นเครื่องมือในการช่วยสื่อสารได้

3.สร้างพื้นที่ปลอดภัยในครอบครัว ให้ลูกสามารถสื่อสาร หรือเล่าเรื่องราวต่างๆ ได้ โดยไม่ถูกบ่นหรือตำหนิ หลีกเลี่ยงการใช้การลงโทษที่ใช้ความรุนแรงทางกายและทางอารมณ์ เน้นการใช้แรงเสริมทางบวกเพื่อเพิ่มพฤติกรรมที่ดีแทน และหากพบว่าเด็กมีพฤติกรรม อารมณ์ ความคิด ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ควรพาไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น หรือกุมารแพทย์พัฒนาการ ได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark