ข่าวในหมวด ข่าวออนไลน์ News

เตรียมพร้อมแผนลงพื้นที่สแกนเด็กกลุ่มเสี่ยง


ลงพื้นที่ทันที! เตรียมพร้อมแผนลงพื้นที่สแกนเด็กกลุ่มเสี่ยง ชี้ การลดเพดานอายุเด็กที่กระทำผิด ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายในการป้องกันปัญหา

ในการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ วันนี้ (1 ก.พ.67) ได้มีการหารือ แนวทางการดำเนินการลงโทษผู้กระทำผิดที่เป็นเด็กและเยาวชน ซึ่งที่ผ่านมาหลายฝ่ายพูดถึงการลดเพดานอายุเด็กที่กระทำผิดให้ต่ำลงจากเกณฑ์เดิมที่กำหนดไว้ที่ 12 ปี  ที่ประชุมมีความเห็นตรงกันว่าการลดเพดาอายุเด็กไม่ใช่คำตอบสุดท้ายในการป้องกันปัญหา เพราะการลดอายุต่ำกว่า 12 ปี เป็น 9 ปี10 ปี11ปี ไม่สามารถการันตีได้ว่า เมื่อลดอายุแล้วเด็กจะไม่ก่อเหตุ ในอนาคตเราอาจจะเห็นผู้กระทำผิดต่ำกว่า 9 ปีก็ได้ ยืนยันการลดอายุไม่ใช่เป็นการแก้ไขปัญหา

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้พูดถึงแนวทางการป้องกัน โดยนำข้อมูลของแต่ละพื้นที่มาร่วมกัน ดูแลผ่านคณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัด เป็นหน้าที่ที่แต่ละจังหวัดต้องไปสแกนเด็กกลุ่มเสี่ยงที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง รวมถึงในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นการบูลลี่ การใช้กำลังรังแก เด็กกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ ผู้ใหญ่แต่ละพื้นที่ ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย รวมถึงพม.จะต้องแสกนเด็กกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้และเข้าไปร่วมกันป้องกัน ด้วยการพูดคุยกับตัวเด็ก รวมถึงครอบครัว การดูถึงสภาพครอบครัว เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กกลุ่มนี้ก้าวข้ามเส้นขีดแบ่งจากเด็กกลุ่มเสี่ยงกลายเป็นเด็กกระทำความผิด หัวใจสำคัญคือการป้องกันปัญหา การสแกนแต่ละพื้นที่ การทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียน พม. ที่ต้องเข้าถึงเด็กแต่ละคนเพื่อป้องกันความรุนแรงรูปแบบต่างๆ จะเกิดขึ้น  

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการคุ้มครองครองเด็กจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ได้ขอให้ดำเนินการทันทีในการลงไปสแกนเด็กแต่ละพื้นที่ จะดำเนินการทันที ส่วนผลนั้นอาจจะต้องใช้ระยะเวลาในการพูดคุยเด็กแต่ละกลุ่ม ซึ่งจะมีการแบ่งเด็กออกเป็น 3 กลุ่มคือ 1. เด็กกลุ่มเสี่ยง 2.เด็กที่กระทำความผิดแล้ว และ 3.เด็กที่กระทำผิดแล้วและมีการส่งตัวเข้ารับการดูแลในบ้านพักเด็กและครอบครัว หรือแต่ละหน่วยงาน ซึ่งแต่ละกลุ่มจะต้องป้องกันไม่ให้เพิ่มจำนวนมากขึ้น

ส่วนกรณีเด็กที่ก่อเหตุมักจะถูกโยงว่าเป็นเด็กพิเศษ นายวราวุธ กล่าวว่า เป็นประเด็นละเอียดอ่อน ซึ่งเวลาเกิดเหตุเราจะเห็นหลายครั้งจะมีการประเมินสภาพจิตใจเด็กและดูว่าเป็นเด็กพิเศษหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องของนักจิตวิทยา ทีมสหวิชาชีพเป็นผู้ประเมิน คงไม่สามารถอ้างได้ว่าสภาพจิตใจไม่ปกติกลายเป็นเด็กพิเศษ เชื่อว่านักจิตวิทยา ทีมสหวิชาชีพมีมาตรการในการประเมินว่าเด็กคนนั้นๆ มีสภาพจิตเป็นอย่างไร และสามารถบ่งชี้ว่าเป็นเด็กพิเศษหรือไม่ หากเป็นเด็กพิเศษก็จะมีมาตรการดำเนินการตามกฎหมาย

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark