ข่าวในหมวด ข่าวออนไลน์ News

ทะเลไทยกำลังเต็มไปด้วยขยะพลาสติก


#เศรษฐศาสตร์ตลาดสด วันนี้จะมาเล่าถึงปัญหา “ขยะ” ที่อยู่คู่ประเทศไทยมานานหลายปี

จากตัวเลขสถิติที่รายงานในเว็บไซต์กรมควบคุมมลพิษ ประเทศไทยมีขยะเกิดขึ้นจากการอุปโภคบริโภคและการผลิตทั่วประเทศรวม 25.7 ล้านตันในปี 2565 (เพิ่มขึ้นจาก 24.98 ล้านตันในปีก่อนหน้า) และมีปริมาณขยะตกค้าง 9.91 ล้านตัน โดยมีการนำกลับมาใช้ใหม่เพียง 8.8 ล้านตัน และมีการกำจัดอย่างถูกวิธี 9.8 ล้านตัน นั่นหมายความว่ามีปริมาณขยะที่ไม่ได้ถูกกำจัดอย่างถูกวิธีหรือตกค้างในปี 2565  รวม 17.01 ล้านตัน

ในปี 2565 กรุงเทพมหานครเป็นจังหวัดที่สร้างขยะใหม่ในแต่ละวันมากที่สุด คือ 1.289 หมื่นตันต่อวัน!! หรือก็คือ 4.705 ล้านตันต่อปี (18.3% ของขยะทั้งประเทศ) มีการนำกลับมาใช้ประโยชน์ 0.384 หมื่นตันต่อวัน ขยะที่เหลือมีการกำจัดอย่างถูกวิธี

ถัดมา คือ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งมีการสร้างขยะใหม่วันละ 3.12 พันตันต่อวัน มีการนำกลับมาใช้ประโยชน์ 290 ตันต่อวัน และด้วยศักยภาพที่จำกัดในการกำจัดขยะ ทำให้มีขยะเพียง 300 ตันถูกกำจัดอย่างถูกวิธี และในแต่ละวัน มีขยะที่ถูกกำจัดอย่างไม่เหมาะสมอยู่ถึง 2.53 พันตันต่อวัน โดยมีขยะตกค้างสะสมอยู่ 1.93 ล้านตันในปี 2565

อันดับที่สาม คือ จังหวัดชลบุรี มีการสร้างขยะใหม่วันละ 3.107 พันตันต่อวัน มีการนำกลับมาใช้ประโยชน์เพียง 250 ตันต่อวัน แต่มีการกำจัดขยะ 2.37 พันตัน อย่างถูกวิธี ขยะที่ถูกกำจัดอย่างไม่เหมาะสมมีอยู่ 470 ตันต่อวัน ทำให้เหลือขยะตกค้าง 4.706 แสนตันในปี 2565

ขยะที่ตกค้างเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของขยะที่ลอยมาติดป่าชายเลนในบริเวณอ่าวไทย อย่างเช่น ที่บ้านขุนสมุทรจีน ณ ตำบลแหลมฟ้าผ่า ซึ่งมีลักษณะเป็นอ่าวกอไก่ ที่มีน้ำไหลจากแหล่งน้ำหลายแหล่งไหลเวียนทั้งปี

การทิ้งขยะในแม่น้ำ หรือการทิ้งขยะจำนวนมากจนล้นสู่แหล่งน้ำ รวมถึงการจัดการขยะที่ไม่เหมาะสม ทำให้ขยะเหล่านี้รั่วไหลลงสู่ทะเล และขยะพลาสติกเหล่านี้ทำให้เกิดไมโครพลาสติกในแหล่งน้ำ กลายเป็นมลพิษทางทะเลและส่งผลต่อระบบนิเวศน์และสิ่งมีชีวิตในน้ำ

งานวิจัยสำรวจนานาชาติหลายชิ้นมีการระบุว่าประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกที่มีขยะรั่วไหลลงทะเลมากที่สุด

จากรายงานของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ขยะที่พบในทะเลไทยมากที่สุด ได้แก่ ขวดพลาสติกเครื่องดื่ม (ร้อยละ 22.00%) ถุงพลาสติก (ร้อยละ 19.42%) ขวดเเก้ว (10.96%) ห่อ/ถุงขนม (7.97%) เศษโฟม (7.55%) กระป๋องเครื่องดื่ม (7.46%) กล่องอาหารประเภทโฟม (6.92%) หลอด (6.45%) ฝาพลาสติก (5.67%)  เชือก (5.61%) 

บ้านขุนสมุทรจีนที่มีลักษณะเป็นอ่าวกอไก่ ต้องเผชิญกับปัญหาขยะที่ไหลมากับแหล่งน้ำที่เข้ามาไหลเวียน ขยะจำนวนมากที่ไหลมาติดอยู่ที่หมู่บ้าน มีทั้งขวดพลาสติก ถุงพลาสติก แก้วพลาสติก กล่องนม ขวดแก้ว ถังพลาสติก ถุงขนม เศษโฟม และอื่นๆ

ด้วยกระแสน้ำจากทางใต้ไหลเข้าสู่อ่าว ขยะที่ไหลมาติดที่บ้านขุนสมุทรจีน ไม่เพียงแต่เป็นขยะที่ไหลลงมากับแม่น้ำ แต่ยังมีขยะที่ไหลมาจากประเทศเพื่อนบ้านด้วย

การกำจัดขยะจำนวนมากที่ไหลเวียนมาตลอดเวลา ทำได้ยาก แม้องค์กรเอกชนและรัฐหลายหน่วยงานเข้าไปทำกิจกรรมเก็บขยะในพื้นที่ แต่เมื่อขยะไหลมาเติมทุกวัน การเก็บขยะแค่ไม่กี่วันในแต่ละปี ย่อมไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาในระยะยาวให้กับชุมชน

หากจัดการขยะด้วยการเผาขยะที่มีกระบวนการเผาที่ไม่สมบูรณ์ การเผาขยะนั้นก็จะทำให้เกิดฝุ่น PM2.5 ภายในพื้นที่จำนวนมาก อีกทั้งการเผาขยะยังปล่อยคาร์บอนออกสู่ชั้นบรรยากาศ ส่งผลให้เกิดปัญหาโลกร้อนอีกด้วย

หากคัดเลือกขยะพลาสติก เพื่อหวังที่จะขาย ส่งไปรีไซเคิล ขยะที่ลอยมากับน้ำมักจะเป็นขยะที่มีการปนเปื้อนและไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้

หากทำการขนย้ายขยะเพื่อไปกำจัดนอกหมู่บ้าน ก็ยิ่งไม่สะดวก ด้วยการคมนาคมระหว่างหมู่บ้านและพื้นที่ภายนอกที่ยังไม่ได้รับการพัฒนา ทำให้ต้นทุนในการขนย้ายสูง เป็นวิธีที่ไม่คุ้มค่า

ปัจจุบันชาวบ้านจึงแก้ปัญหาด้วยการเก็บขยะพลาสติกที่ลอยอยู่เต็มแหล่งน้ำของหมู่บ้าน แล้วนำมาบดอัดรวมกับปูนทำแผ่นปูนอัดเพื่อทำถนนและทางเดินภายในหมู่บ้าน ซึ่งนอกจากจะเป็นการรีไซเคิลขยะพลาสติกแล้ว ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายต้นทุนในการทำถนน และสร้างงานให้กับคนในพื้นที่

การแก้หรือลดปัญหาขยะรั่วไหลลงทะเลสามารถทำได้ด้วยความร่วมมือของคนทั้งประเทศ ไม่ใช่เพียงแต่คนในพื้นที่ชุมชนป่าชายเลน นั่นคือ เราทุกคนช่วยกันลดปริมาณขยะในแต่ละวันด้วยวิธีง่ายๆ  เช่น หันมาใช้ภาชนะบรรจุอาหาร-เครื่องดื่มของตัวเองในการซื้ออาหาร-เครื่องดื่ม หรือปฏิเสธถุงฟรีที่ร้านสะดวกซื้อและร้านข้างทางต่างๆ ใส่มาให้ และแยกขยะที่สามารถรีไซเคิลกลับมาใช้ประโยชน์ได้ เป็นต้น รวมถึงช่วยกันส่งเสริมการกำจัดขยะอย่างถูกวิธี เช่น ทิ้งขยะในถังขยะ ไม่ทิ้งขยะข้างทางหรือลงแหล่งน้ำ

นอกจากนี้ภาครัฐเองควรเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการขยะเหล่านี้ เพื่อลดภาระของชุมชนชายทะเล และรักษาระบบนิเวศน์ป่าชายเลน การควบคุมการทิ้งขยะและกำจัดขยะอย่างเหมาะสมทั่วประเทศเพื่อลดปัญหาขยะล้นและรั่วไหลลงสู่แหล่งน้ำ

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark