ข่าวในหมวด ข่าวออนไลน์ News

ผลสำรวจวาเลนไทน์ 67 นอกใจ ทำให้รักเป็นพิษมากที่สุด


เปิดผลสำรวจวาเลนไทน์ 67 “นอกใจ” เป็นพฤติกรรมทำให้รักเป็นพิษมากที่สุด ยาเสพติด การพนัน เหล้า ทำให้คู่รักเปลี่ยนไป ส่วนคำพูดฮีลใจดีที่สุด “เหนื่อยมั้ย”

สัญญาณเตือน...ก่อนรักเป็นพิษ วันนี้ (14 ก.พ. 67) มูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เครือข่ายลดปัจจัยเสี่ยง และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะ (สสส.) จัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในโอกาสวันวาเลนไทน์ ประจำปี 2567 “Love is not toxic รักไม่เป็นพิษ”

นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า ข้อมูลของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล รวบรวมข่าวความรุนแรงในครอบครัวที่เผยแพร่ผ่านสื่อ ปี 2565 มีถึง 1,131 เหตุการณ์ เพิ่มจากปี 2564 กว่า 3 เท่า โดยมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นตัวกระตุ้น 347 ข่าว คิดเป็น 30.7% และยาเสพติด 272 ข่าว คิดเป็น 24% ขณะที่เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง สำรวจเยาวชนอายุ 13-25 ปี รวม 2,000 คน ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ช่วงต้นเดือน ก.พ. 2567  พบปัจจัยร่วมที่เข้ามามีส่วนทำให้คู่รักเปลี่ยนไป อันดับ 1 ยาเสพติด อันดับ 2 การพนัน และ อันดับ 3 เครื่องดื่มแอลกอฮอล์  

ด้านนางสาวปาลิณี  ต่างสี ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง กล่าวว่า จากการการสำรวจความคิดเห็นเยาวชนอายุ 13-25 ปี ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 2,000 ตัวอย่าง ช่วงต้นเดือน ก.พ. ปี 2567 เรื่อง Love is not toxic รักไม่เป็นพิษ พบว่าพฤติกรรมที่ทำให้รักเป็นพิษมากที่สุดคือการนอกใจ 45.55% การลดทอนคุณค่า 42.85% ใช้ความรุนแรงทั้งคำพูดและการกระทำ 37.1% ความคาดหวัง การกดดัน 33.3% การแสดงความเป็นเจ้าของ 32.2% ความเงียบ ถามไม่ตอบ 28.8% ดื่มเหล้าเล่นพนัน ใช้ยาเสพติด 15.75% ชอบเหวี่ยงชอบวีน 15.1% โมโหร้าย ทำลายข้าวของ 14.6% ขึ้นเสียง แสดงอำนาจ ชักสีหน้าใส่ 14.6% เอาเรื่องส่วนตัวไปเล่าให้คนอื่นฟัง 7.6% ติดเที่ยวกลางคืน ปาร์ตี 6.45% เอาเปรียบเรื่องเงิน 5.55% เมื่อเกิดปัญหาแล้วเลือกที่จะปรึกษามากที่สุดคือ เพื่อน 62.05% พ่อแม่ คนในครอบครัว 21.6% ครู อาจารย์ 9.5% และสื่อออนไลน์ 3.75 %

“สาเหตุที่ทำให้เกิดความรุนแรงคือการควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ 42.1% การเลี้ยงดูจากครอบครัว 17.75% ประสบการณ์ชีวิต 10.7% พฤติกรรมเลียนแบบจากคนในครอบครัวที่ใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 7.85% ความเชื่อส่วนบุคคล 6.05% จิตเวช 5.7% เกม 5% สื่อซีรีส์หนัง 3.15% ส่วนปัจจัยร่วมที่ทำให้คู่รักเปลี่ยนไปคือยาเสพติด 58.7% พนัน 48.6% เหล้า 43.35% ติดโซเชียลมีเดีย 39.35% การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ลงตัว 38.1% ติดหนี้ 34.3% เกม 32.25%” นางสาวปาลิณี  กล่าว  

นางสาวปาลิณี  กล่าวต่อว่า เมื่อเกิดปัญหาขึ้นพบว่ามีการโพสต์ข้อความทางโซเชียลเพื่อระบายปัญหาความสัมพันธ์ของคู่รักมากที่สุด 36.55% โพสต์เพื่อตำหนิ หรือประชด 35.6% โพสต์โอ้อวด 14.9% โพสต์เพื่อเรียกร้องความสนใจของคู่รัก 12.55% ส่วนวิธีแก้ปัญหาอันดับแรกคือ จัดการด้วยการพาตัวเองออกจากความสัมพันธ์ หรือเลิก 42.3% สร้างพื้นที่ปลอดภัย สบายใจ 34.3% หากิจกรรมผ่อนคลาย เช่น ธรรมะ เล่นเกม 16.05% แสดงความอ่อนแอ ร้องไห้ 4.9%

“สังคมของวัยรุ่นเกี่ยวกับเรื่องความสัมพันธ์ที่ Toxic น่าเป็นห่วง เพราะเป็นสัญญาณเตือนที่อาจจะนำไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้า และการใช้ความรุนแรงระหว่างคู่รัก และเห็นปัจจัยเสี่ยงที่เข้ามาเป็นปัจจัยร่วมที่จะทำให้ความรักเกิดปัญหา ไม่ว่าจะเป็นยาเสพติด พนัน เหล้า ซึ่งพวกเราอาจจะต้อง รับรู้ เข้าใจปัญหา และร่วมกันหาทางออกกับปัญหาเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม การสำรวจพบว่า ยังมีคำพูดดีๆ ที่สามารถฮีลใจ หรือทำให้รู้สึกดีขึ้นคือ เหนื่อยไหม72.2% สู้ๆ นะ คุณโอเคไหม 50.7% รักนะจุ๊บๆ 49.5% กอดนะ 47.85% เป็นห่วงนะ 45% กินอะไรมาหรือยัง 38.95% เงินไม่พอบอกนะ 37.1% วันหยุดนี้ไปเที่ยวไหนดี 34.75%  ทำทุกอย่างเพื่อเรานะ 23.3%” นางสาวปาลิณี  กล่าว

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark