ข่าวในหมวด ข่าวออนไลน์ News

กสม. หนุนออกกฎหมายนิรโทษกรรมคดีชุมนุมทางการเมือง

กสม. หนุนออกกฎหมายนิรโทษกรรมคดีชุมนุมทางการเมือง แนะกำหนดเวลาตั้งแต่ปี 2549 จนถึงวันที่กฎหมายนิรโทษกรรมมีผลใช้บังคับ

วันนี้ (15 ก.พ.67) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีการเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรม และร่างกฎหมายสร้างเสริมสังคมสันติสุข ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา 5 ฉบับ ได้แก่ ร่างกฎหมายของพรรคพลงัธรรมใหม่ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคก้าวไกล และร่างกฎหมายของ ภาคประชาชน ต่อมาเมื่อวันที่ 1 ก.พ.67 สภาฯ เห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ตามที่พรรคเพื่อไทยเสนอ โดยกำหนดกรอบเวลาทำงาน 60 วัน มีนายชูศกดิ์  ศิรินิล เป็นประธาน กมธ.

จากการศึกษาร่างกฎหมาย ประกอบหลักสิทธิมนุษยชน กสม. เห็นว่าการนิรโทษกรรมเป็นเครื่องมือหนึ่งในการยุติความขัดแย้งในอดีต ที่สมควรถูกหยิบยกขึ้นมาใช้ ในกรณีที่กระบวนการยุติธรรมปกติไม่อาจระงับความขัดแย้งได้ กสม. จึงมีความเห็น ดังนี้

1.ความมุ่งหมายของการนิรโทษกรรม ที่ผ่านมาร่างกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมของฝ่ายนิติบัญญัติ มีเจตนารมณ์ในการนิรโทษกรรม 2 รูปแบบ คือ กรณีเกี่ยวข้องกบัเหตุการณ์ทางการเมืองและไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางการเมือง เพื่อยุติความแตกแยกทางความคิด และความขัดแย้งทางการเมือง ตั้งแต่ก่อนการรัฐประหารในปี 2549 ครอบคลุมการกระทำความผิดอันเกิดจากการชุมนุม การประท้วง การเรียกร้อง การแสดงออก หรือการแสดงความคิดเห็น ที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองหรือเกิดจากความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งผู้กระทำความผิดมีมูลเหตุจูงใจแตกต่างจากเจตนาในการกระทำผิดทางอาญาในกรณีทั่วไป
 
2. การกำหนดช่วงเวลาที่จะได้รับการนิรโทษกรรม ควรกำหนดให้ครอบคลุมถึงเหตุการณ์ หรือห้วงเวลาที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยหรือผลที่นำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นทั้งหมด และในปัจจุบันความขัดแย้ง ดังกล่าวก็ยังคงดำรงอยู่ในสังคมไทย ดังนั้น ควรกำหนดระยะเวลาการนิรโทษกรรมตั้งแต่ปี 2549 ถึงวันที่กฎหมายนิรโทษกรรมมีผลใช้บังคับ

3. กรณีจำเป็นต้องมีคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองการให้นิรโทษกรรมในกฎหมาย คณะกรรมการต้องมีความเป็นอิสระ เป็นกลาง และไม่มีส่วนได้เสียในการพิจารณานิรโทษกรรม

4. ประเภทความผิดที่สมควรได้รับการนิรโทษกรรม ต้องกำหนดไว้โดยชัดแจ้งในกฎหมายหรือ บัญชีท้ายพระราชบัญญัติ ไม่ควรให้คณะกรรมการไปกำหนดประเภท หรือฐานความผิดในภายหลัง เพราะการนิรโทษกรรมถือเป็นข้อยกเว้นการกระทำ ความผิด ต้องใช้และตีความอย่างเคร่งครัด ไม่ขยายความไปใช้กับความผิดที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในกฎหมาย

5. ความผิดที่จะได้รับการนิรโทษกรรมจะต้องไม่เป็นความผิดที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง เช่น การทรมาน การบังคับบุคคลให้หายสาบสูญ การสังหารนอกระบบ การปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม

หลังจากนี้ กสม. จะมีหนังสือแจ้งความเห็นและข้อเสนอแนะดังกล่าวไปยัง ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา เพื่อประกอบการพิจารณาแนวทางในการจัดทำร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมต่อไป

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark