ข่าวในหมวด ข่าวออนไลน์ News

มข. จ่อฟ้องเวทีนางงาม นำผลงานนักศึกษาไปใช้ในกองประกวด ไม่ขออนุญาต


ป้องลิขสิทธิ์ มข. จ่อฟ้องเวทีนางงาม ละเมิดลิขสิทธิ์งานวิจัย นำผลงานนักศึกษาไปใช้ในกองประกวด รอบชิงชนะเลิศ ไม่ขออนุญาต 

วันนี้ (20 ก.พ.67) ที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ผศ.ดร.พชญ อัคพราหมณ์ รองคณบดีฝ่านวิจัย นวัตกรรม และศิลปวัฒนธรรม คณะศิลปกรรมศาสตร์ มข. นำผลงานวิจัยและคลิปบันทึกผลงานชื่อชุด “กํมฺรเตงฺชคตฺศรีศิขรีศวร” (Apsara Thai Traditional Dance) ของนักศึกษาชั้นปีที่ 3 รายวิชานาฎศิลป์อีสานและดนตรีพื้นเมือง 2 สาขาหลักสูตรศิลปะการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มข. ประจำปีการศึกษา 2564 แสดงต่อสื่อมวลชน เพื่อยืนยันถึงผลงานวิจัยของนักศึกษา และชี้แจงขั้นตอนการดำเนินการตามกฎหมายเอาผิดกองประกวดนางงามเวทีหนึ่ง ในรอบชิงชนะเลิศ หลังพบมีการนำผลงานดังกล่าวไปใช้ในการประกวดโดยไม่ได้ขออนุญาตเจ้าของผลงาน คณะ และมหาวิทยาลัย

ผศ.ดร.พชญ กล่าวว่า ขณะนี้ได้นำเอกสารหลักฐานงานวิจัย และผลงานของนักศึกษาชั้นปีที่ 3 ปีการศึกษา 2564 ซึ่งได้สำเร็จการศึกษาแล้ว ส่งมอบต่อกองกฎหมายของมหาวิทยาลัย เพื่อหารือและขอคำแนะนำจากคณบดี คณะศิลปกรรมศาสตร์ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยฯ ซึ่งทุกท่านเห็นด้วยในการรักษาลิขสิทธิ์ของคนไทยและผลงานวิจัยของนักศึกษา ที่ถูกกองประกวดนางงามเวทีหนึ่ง นำเฉพาะเสียงดนตรีและจังหวะดนตรีไปใช้เป็นเพลงประกอบในรอบการประกวดรอบชุดประจำชาติ เมื่อวันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา และนำไปใช้จัดทำคลิปของกองประกวดโดยไม่ได้ขออนุญาตอย่างถูกต้อง

การประกวดดังกล่าวเป็นที่จับตามองของคนทั่วทั้งโลก และรอบชิงชนะเลิศ หรือรอบสุดท้ายนั้น พบว่ามีการนำเอาเพลง ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น และเป็นลิขสิทธิ์ของคณะและมหาวิทยาลัยไปใช้งาน ซึ่งผลงานดังกล่าว เจ้าของผลงาน ซึ่งขณะนั้นเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 ของคณะ ได้ร่วมกับเพื่อนเสนอเค้าโครงการงานวิจัยที่เป็นศิลปะของกลุ่มจังหวัดอีสานใต้ โดยคณะอาจารย์ได้ตรวจสอบเค้าโครง และการถ่ายทำทั้งหมด ยืนยันว่าเป็นผลงานของกลุ่มวัฒนธรรมอีสานใต้ เนื่องจากนักศึกษากลุ่มดังกล่าวชื่นชอบปราสาท ชื่นชอบวัฒนธรรมของกลุ่มจังหวัดอีสานใต้ จึงขอทำวิจัยในศิลปะวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับพระศิวะ การดำรงชีวิตของคนในพื้นที่กลุ่มจังหวัดอีสานใต้ที่มีต่อขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมไทย จนกลายเป็นผลงานชุด “กํมฺรเตงฺชคตฺศรีศิขรีศวร” (Apsara Thai Traditional Dance)  ในปี 2564 แต่ช่วงนั้นเกิดโควิด การส่งงานจึงทำบันทึกลงเป็นคลิปผ่านเพจและยูทูปของคณะฯ ในชื่อ “นาฎศิลป์สินไซ”

ผศ.ดร.พชญ กล่าวอีกว่า ผลงานชิ้นดังกล่าวเป็นที่สนใจของคนทั่วโลก โดยมียอดชมเกือบ 2 ล้านคน และมีต่างชาติแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของนักศึกษา คณะ และมหาวิทยาลัย กระทั่งเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น ยืนยันว่าเจ้าของผลงาน คณะ และมหาวิทยาลัยไม่ได้รับการประสานขออนุญาตจากกองประกวดแต่อย่างใด จึงตัดสินใจรวบรวมพยานหลักฐานเอาผิดกับกองประกวด ซึ่งขณะนี้ผ่านขั้นตอนของกองกฎหมายมหาวิทยาลัยแล้ว และจะเข้าสู่การยื่นเรื่องกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ หรือ บก.ปอศ. เพื่อเอาผิดทางกฎหมาย แต่ด้วยเป็นเรื่องระหว่างประเทศ หวังว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย ทั้งกระทรวงการต่างประเทศ หรือกระทรวงวัฒนธรรม หรือหน่วยงานต่างๆ จะเข้ามาปกป้องผลงานวิจัยของนักศึกษาที่เป็นลิขสิทธิ์ของคนไทยในครั้งนี้

“ในฐานะที่เป็นอาจารย์สอนนักศึกษากลุ่มนี้ กำกับและดูแลนักศึกษาด้านศิลปการแสดงและวัฒนธรรม เมื่อผลงานวิจัยของนักศึกษา ถูกนำไปใช้โดยไม่ขออนุญาต และนำไปใช้ในเวทีระดับโลกเช่นนี้ ก็ต้องออกมาปกป้องและรักษาสิทธิ์ผลงานของนักศึกษา คณะ และมหาวิทยาลัย โดยไม่ได้ก้าวล่วงถึงการอ้างสิทธิ์ศิลปะวัฒนธรรมของประเทศไทย แต่กำลังรักษาผลงานและลิขสิทธิ์ของคนไทยอย่างเต็มที่”

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark