ข่าวในหมวด ข่าวออนไลน์ News

นร.หญิงสูบมากกว่า บุหรี่ไฟฟ้าระบาดหนัก เด็กเริ่มสูบตั้งแต่ชั้นประถม


บุหรี่ไฟฟ้าระบาดหนัก เด็กเริ่มสูบตั้งแต่ชั้นประถม มากถึง 43% เคยลองสูบ และที่น่าตกใจคือนักเรียนหญิงสูบมากกว่านักเรียนชาย หากผลักดันถูกกฎหมาย มีแต่บริษัทบุหรี่ได้ประโยชน์

บุหรี่ไฟฟ้า วันนี้ (27 ก.พ. 67) สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดการเสวนา บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย ‘ใครได้ใครเสีย’ โดยขอให้ผู้กำหนดนโยบาย คำนึงถึงข้อมูลข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านในการพิจารณากฎหมายบุหรี่ไฟฟ้าของประเทศไทย เพื่อปกป้องเด็กไทยจากภัยบุหรี่ไฟฟ้า

รศ.ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์การระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กไทยเข้าขั้นวิกฤต เด็กเริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้าตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา จากการสำรวจที่โรงเรียนชั้นประถมศึกษาแห่งหนึ่งในภาคกลาง พบเด็กประถมปลายเคยลองสูบบุหรี่ไฟฟ้าถึง 43% และที่น่าตกใจคือพบนักเรียนหญิงสูบมากกว่าชาย ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยพบมาก่อน การแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าหนักขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เนื่องมาจากบริษัทบุหรี่ผลิตบุหรี่ไฟฟ้าหรือพอดแบบใช้แล้วทิ้ง และยังออกแบบให้พกพาง่าย รูปร่างสวยงาม มีกลิ่นหอม ซ้ำยังมีการโฆษณาผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ดึงดูดใจ ทำให้เด็กเข้าใจผิดว่าไม่อันตราย ทั้งที่จริงแล้วงานวิจัยใหม่ ๆ ที่ออกมาแสดงอย่างชัดเจนว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายต่อสุขภาพ ทั้งอันตรายต่อปอด หัวใจ หลอดเลือด สมอง และยังเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง

รศ.ดร.สุชาดา ตั้งทางธรรม นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ กรรมการสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้ามในประเทศไทยเช่นเดียวกับอีก 30 กว่าประเทศทั่วโลก และนับวันจะมีประเทศต่าง ๆ ห้ามเพิ่มขึ้น แต่มีคนกลุ่มหนึ่งพยายามผลักดันจะให้ถูกกฎหมายหากถูกกฎหมายผู้ได้ประโยชน์ก็คือบริษัทบุหรี่ ขณะที่ผู้เสียคือคนกลุ่มใหญ่ที่กำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า มีทั้งผู้ปกครองและครูที่เห็นเด็กสูบมากขึ้น รวมถึงแพทย์และบุคลากรวิชาชีพสุขภาพที่พบปัญหาผู้ป่วยจากบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น

“ประเด็นการเก็บภาษีจากบุหรี่ไฟฟ้า กระทรวงการคลังไม่ได้มีหน้าที่เพียงจัดหารายได้เท่านั้น ต้องคำนึงถึงรายจ่ายที่จะตามมาด้วย หากเปิดให้ถูกกฎหมายภาระรายจ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าก็สูงขึ้น โดยมีการประมาณรายจ่ายแล้วว่าไม่คุ้มค่ากับภาษีที่จะเก็บได้” รศ.ดร.สุชาดา กล่าว

รศ.ดร.สุชาดา กล่าวต่อว่า นักวิชาการและนักการเมืองที่สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย อาจจำแนกได้ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก ด้วยความเข้าใจ/การรับรู้ที่จำกัดและไม่ศึกษาให้ดีพอ จึงไม่ทันเล่ห์เหลี่ยมบริษัทบุหรี่ การตัดสินใจที่อาจดูมีเหตุมีผลภายใต้การรับรู้ที่จำกัด (bounded rationality) แทนที่จะเกิดผลดีก็กลับเกิดผลเสียต่อสังคมได้ ขณะที่กลุ่มสอง มีศัพท์ที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า การแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ (rent seeking) ที่หมายถึงการแสวงหาประโยชน์ของบุคคลหรือกลุ่มบุคคล เพื่อให้รัฐบาลดำเนินการในทางที่เอื้อประโยชน์ตน แต่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคม

นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้าควรเป็นสินค้าหรือของต้องห้ามนำเข้า ห้ามขาย ในไทยไม่ควรอนุญาตให้มีการขายบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขาดศักยภาพในการป้องกัน จับกุมการลักลอบนำเข้า การขาย การโฆษณา การสื่อสารการตลาดบุหรี่ไฟฟ้าผ่านสื่อออนไลน์ พบปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย ปัญหาการตีความกฎหมายศุลกากรในประเด็นการครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าของผู้ใช้งานที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมายศุลกากรหลายประเทศ ซึ่งเน้นการดำเนินคดีกับผู้นำเข้า กลุ่มผู้ค้าเป็นหลัก รวมทั้งการตีความจำกัดอำนาจของเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ทั้งนี้ บุหรี่ไฟฟ้ายังเกี่ยวพันกับการทุจริตและการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐบางส่วน

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark