ข่าวในหมวด ข่าวออนไลน์ News

กทม. ชลบุรี ภูเก็ต ร้อนอบอ้าวมาก เลี่ยงออกแดดด่วน

ร้อนตับแตก! วันนี้ บางนา กทม.  ชลบุรี  ภูเก็ต ค่าดัชนีความร้อนว่าสูงแล้ว พรุ่งนี้ต้องตรียมร่างกายให้พร้อม เลี่ยงแดด ระวังสุขภาพ ขั้นสุด เพราะค่าดัชนีความร้อนจะสูงกว่า สูงสุดได้ถึง 47.5 °C

วันนี้ (28 ก.พ.67) กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ ค่าดัชนีความร้อนระหว่างวันที่ 27-29 ก.พ. 67 พบว่า ค่าดัชนีความร้อนอยู่ในระดับเฝ้าระวังและระดับอันตราย โดย

วันที่ 28 ก.พ. 67 ค่าดัชนีความร้อน สูงสุดในพื้นที่ บางนา กทม. 43.6 องศาเซลเซียล, ชลบุรี 44.4 องศาเซลเซียล และ ภูเก็ต 42.8 องศาเซลเซียล และยังมีพื้นที่เฝ้าระวัง คือ วิเชียรบุรี เพชรบูรณ์ 31.9 องศาเซลเซียล สุรินทร์ 31.1 องศาเซลเซียล

วันที่ 29 ก.พ. 67 คาดการณ์ว่า  ค่าดัชนีความร้อนอยู่ในระดับเฝ้าระวังและระดับอันตราย เช่นกัน ก็ยังคงเป็นพื้นที่ บางนา กทม. 47.5 องศาเซลเซียล, ชลบุรี 46.3 องศาเซลเซียล, ภูเก็ต 42.6 องศาเซลเซียล และยังมีพื้นที่เฝ้าระวังคือ ตาก 31.3 องศาเซลเซียล และโชคชัย นครราชสีมา 32.6 องศาเซลเซียล

เตือน ปชช.เฝ้าระวังหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดจัดเป็นเวลานาน ๆ และดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย และระวังโรคที่เกิดจากอากาศร้อน

สำหรับดัชนีความร้อน (Heat Index) คือ อุณหภูมิที่คนเรารู้สึกได้ในขณะนั้น ว่าอากาศร้อนเป็นอย่างไร หรืออุณหภูมิที่ปรากฏในขณะนั้นเป็นเช่นไร โดยการนำเอาค่าอุณหภูมิของอากาศที่ตรวจวัดได้จริงและความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศ มาทำการวิเคราะห์หาค่าที่เป็นตัวแทนของอุณหภูมิที่คนเรารู้สึกได้ในสภาวะอากาศขณะนั้น ซึ่งค่าดัชนีจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อระบุความเสี่ยงที่ร่างกายจะได้รับผลกระทบจากความร้อนได้นั่นเอง

ด้วยอุณหภูมิความร้อนที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ซึ่งผู้ที่ทำกิจกรรมกลางแจ้งหรือเป็นโรคประจำตัว อาจมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากความร้อน หน่วยงานต่างๆ เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา จึงได้มีประกาศเตือนในทุกๆ ครั้ง ที่มีการพยากรณ์ว่าช่วงเวลาดังกล่าวจะมีอากาศร้อนสูงเป็นอันตราย

โดยค่าดัชนีความร้อนที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ แบ่งได้เป็น 4 ระดับ ดังนี้

1. ระดับเฝ้าระวัง 27-32 องศาเซลเซียส (สีเขียว) - ระดับนี้ทำให้อ่อนเพลียวิงเวียน คลื่นไส้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวจากการสัมผัสความ ออกกำลังกาย หรือการใช้แรงงานกลางแจ้งท่ามกลางอากาศร้อน

2. เตือนภัย 32-41 องศาเซลเซียส (สีเหลือง) - ระดับนี้ร่างกายจะเกิดภาวะตะคริวจากความร้อน และเกิดอาการเพลียแดด หากสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน

3. อันตราย 41-54 องศาเซลเซียส (สีส้ม) – ร่างกายจะมีอาการตะคริวที่น่อง ต้นขา หน้าท้อง หรือไหล่ ทำให้ปวดเกร็ง มีอาการเพลียแดด และอาจเกิดภาวะลมแดด หรือ ฮีทสโตรก หากสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน

4. อันตรายมาก อุณภูมิที่แจ้งจะมากกว่า 54 องศาเซลเซียส (สีแดง) ในระดับนี้จะทำให้เกิดภาวะลมแดด หรือ ฮีทสโตรก ที่อาจทำให้บางคนมีอันตรายถึงชีวิตได้

ทั้งนี้ ค่าความร้อนที่เรารู้สึก ยิ่งความชื้นสูง เราจะรู้สึกร้อนมากขึ้นมากกว่าอุณหภูมิที่วัดได้ เพราะความชื้นสูงจะระบายความร้อนยาก ทำให้มีความรู้สึกอึดอัด เมื่อร่างกายระบายความร้อนไม่ได้ จึงเป็นสาเหตุทำให้เกิดฮีทสโตรก หรือลมแดดนั่นเอง คืออาการกล้ามเนื้อสร้างความร้อนมากจนร่างกายรับไม่ไหว และเกิดปฏิกิริยาการตอบสนอง อาจจะทำให้ระบบหายใจล้มเหลว และอาจจะถึงขั้นเสียชีวิตได้

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark