ข่าวในหมวด ประเด็นร้อนออนไลน์

ทำความรู้จัก โรคตุ่มน้ำพอง ทำ วินัย ไกรบุตร เสียชีวิต

โรคตุ่มน้ำพอง


จากการจากไปของอดีตพระเอกดัง เมฆ วินัย ไกรบุตร ได้จากไปอย่างสงบ อายุ 54 ปี เมื่อคืนวันที่ 20 มี.ค. 67 ที่ผ่านมา หลังป่วยด้วยโรคตุ่มน้ำพอง และรักษามานานหลายปี  เนื่องจากมีภาวะความดันต่ำ และติดเชื้อในกระแสเลือด กระทั่งหัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิต

โรคตุ่มน้ำพอง คืออะไร

โรคตุ่มน้ำพอง
เป็นโรคที่ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ เกิดการสร้างสารโปรตีนกลุ่มอิมมูโนโกลบูลินไปทำลายการยึดเกาะกันของเซลล์ผิวหนัง จึงเกิดการแยกตัวของผิวหนัง ในชั้นหนังกำพร้า หรือบริเวณรอยต่อระหว่างหนังกำพร้าและหนังแท้  ทำให้เกิดตุ่มน้ำพองขึ้นที่ผิวหนังหรือเยื่อบุต่าง ๆ เช่น ในปาก เป็นต้น ตัวอย่างของโรคเหล่านี้ คือ โรคเพ็มฟิกัส (Pemphigus) เพ็มฟิกอยด์ (Bullous pemphigoid)

อาการและอาการแสดงโรคตุ่มน้ำพอง

โรคกลุ่มนี้บางชนิดพบในวัยเด็ก บางชนิดพบในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ พบได้ทั้งเพศหญิงและชาย อาการคือ 

- ผื่นแดงคันนำมาก่อน
- มีตุ่มน้ำพองขนาดต่าง ๆ เกิดขึ้นที่ผิวหนัง บางรายอาจเกิดที่เยื่อบุต่าง ๆ ร่วมด้วย
- ผู้ป่วยในช่วงอายุ 50-60 ปีเกิดจากความผิดปกติที่ชั้นผิวหนังกำพร้าในผิวหนังชั้นตื้น แต่อาจกินบริเวณกว้าง
- มีแผลเหมือนถูกน้ำร้อนลวก และส่วนใหญ่มักมีแผลถลอกในช่องปากร่วมด้วย
- ตำแหน่งที่พบบ่อย คือ ศีรษะ หน้าอก หน้าท้อง และบริเวณที่ผิวหนังเสียดสีกัน
- เมื่อตุ่มน้ำแตกจะเกิดแผล หรือรอยถลอก ทำให้มีอาการเจ็บ ถ้าเกิดตุ่มน้ำพองหรือแผลในปากจะทำให้เจ็บแสบ กลืนอาหารไม่สะดวก บางรายผิวหนังที่ถลอกหรือเป็นแผล อาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียเป็นหนอง ถ้าเป็นรุนแรง เชื้อโรคอาจเข้าสู่กระแสเลือดทำให้มีไข้ หรืออาการอื่น ๆ ได้
-เมื่อหายแล้วอาจทิ้งร่องรอยแต่ไม่เป็นแผลเป็น

สาเหตุโรคตุ่มน้ำพอง

เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ร่วมกับมีปัจจัยทางพันธุกรรมหรือสิ่งแวดล้อมอื่น เช่น เชื้อโรคหรือสารเคมีเป็นปัจจัยกระตุ้น อย่างไรก็ตามโรคตุ่มน้ำพองจากภูมิคุ้มกันไม่ใช่โรคติดต่อ

การรักษาโรคตุ่มน้ำพอง

- การให้ยากดภูมิคุ้มกันเพื่อให้โรดสงบร่วมกับยาแก้อักเสบ
- การให้ยาที่เปลี่ยนการทำงานของเซลล์
- ระยะเวลาการรักษาให้หายขาดแตกต่างกันไป บางรายใช้เวลาไม่นานบางรายนานนับปื ขึ้นอยู่กับโรคและอาการว่ามีมากน้อยแค่ไหน

การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยโรคตุ่มน้ำพอง

โรคในกลุ่มนี้มีความรุนแรงต่างกัน โรคกลุ่มนี้เป็นโรคเรื้อรังอาการของโรคอาจกำเริบและสงบสลับกันไป ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรมารับการตรวจรักษาโดยสม่ำเสมอและรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งโดยเคร่งครัด

เนื่องจากผู้ป่วยมักจะได้รับยาที่กดระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรปฏิบัติตัว ดังนี้

- หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นโรคติดเชื้อ ไม่ไปสถานที่แออัด เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
- ถ้ามีอาการที่บ่งถึงการติดเชื้อ เช่น ไข้สูง ไอ ปัสสาวะแสบขัด ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว
- ไม่รับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ หรือไม่สะอาด
- ถ้าโรคยังไม่สงบ ไม่ควรตั้งครรภ์ เนื่องจากยาที่รับประทานเพื่อควบคุมโรคอาจมีผลต่อทารกในครรภ์ ถึงแม้ว่าโรคสงบแล้ว ถ้าจะตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ เพราะแพทย์อาจจะยังให้ยาบางชนิดเพื่อควบคุมโรคไม่ให้กำเริบ ซึ่งอาจมีผลต่อทารกในครรภ์ได้เช่นกัน
- ผู้ป่วยที่ได้รับยาเพรดนิโซโลน ถ้ามีอาการปวดท้อง อุจจาระดำ หรืออาเจียนเป็นเลือด ควรรีบพบแพทย์
- ควรพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- ดื่มนมสด หรือ รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เพื่อป้องกันภาวะกระดูกพรุนจากยา

ผู้ป่วยที่มีตุ่มน้ำแตกเป็นแผลในปาก

- ใช้น้ำเกลือ (Normal saline) อมกลั้ว บ้วนปากบ่อย ๆ หรือทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร หลีกเลี่ยงการใช้น้ำยาบ้วนปากหรือยาฆ่าเชื้อในช่องปากที่เข้มข้น
- หลีกเลี่ยงการแปรงฟันแรง ๆ เนื่องจากจะทำให้แผลถลอกมากขึ้น
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัด โดยเฉพาะอาหารเผ็ดหรือเปรี้ยว จะทำให้แสบหรือเจ็บแผลมากขึ้น

สำหรับผื่นที่ผิวหนัง

- หลีกเลี่ยง การประคบหรือพอกแผลด้วยสมุนไพร หรือยาใด ที่แพทย์ไม่ได้เป็นผู้สั่ง
- ถ้าต้องการทำความสะอาดแผล ควรใช้น้ำเกลือ (Normal saline) เช็ดเบา ๆ อาจใช้ยาทา เช่น ยาครีมฆ่าเชื้อ ไม่ควรเปิดแผลบ่อย ๆ เพราะจะทำให้ผิวหนังหลุดถลอก

BUGABOONEWS
ขอบคุณข้อมูลจาก  คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล,โรงพยาบาลเปาโล,โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark