ข่าวในหมวด ข่าวออนไลน์ News

อธิบดีกรมอุทยานฯ เผย ผู้ได้รับบาดเจ็บจากการถูก ลิง ทำร้าย หากผ่านการพิจารณา ไม่เกิน 30 วัน จะได้รับเ

อธิบดีกรมอุทยานฯ เผย ผู้ได้รับบาดเจ็บจากการถูก ลิง กระทิง หมี และช้างป่าทำร้าย หากผ่านการพิจารณา ไม่เกิน 30 วัน จะได้รับเงินเยียวยา

จากกรณีที่คณะกรรมการเงินรายได้สัตว์ป่า มีมติเห็นชอบให้ใช้หลักเกณฑ์และวิธีการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสัตว์ป่า พ.ศ.2567 ซึ่งกำหนดให้สามารถใช้เงินอนุรักษ์สัตว์ป่า จ่ายให้แก่ผู้ที่ถูกช้างป่า กระทิง ลิง และหมี กรณีถูกสัตว์ป่าชนิดเหล่านี้ทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่ วันที่ 23 มี.ค.67ที่ผ่านมา

ล่าสุด นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าว 7HD ผ่านสนามข่าวออนไลน์ วันนี้ 25 มีนาคม โดยระบุถึงประชากรลิงในปัจจุบัน ลดลงกว่า 1-2 ปี ที่ผ่านมา ส่วนหนึ่ง อาจจะเป็นเพราะสภาพร่างกาย หรือ ภูมิต้านทานของลิงลดลง ซึ่ง ณ วันนี้ จำนวนเฉพาะลิงที่อยู่ในเมืองลพบุรี มีไม่เกิน 3,000 ตัว แต่หากรวมกับลิงที่กระจายอยู่ในอำเภออื่นๆของ จ.ลพบุรี มีไม่เกิน  20,000 ตัว

สำหรับเรื่องการขนย้ายลิงนั้น ขณะนี้มีการร่วมมือกับท้องถิ่น และจังหวัดใกล้เคียง เตรียมขนย้ายลิงไปไว้ที่กรง เพราะทางเทศบาลกำลังปรับปรุงให้เป็นไปตามมาตรฐานให้แข็งแรง ให้ลิงอยู่ในกรงได้อย่างมีความสุข ไม่ลำบากเกินไป รวมถึงที่วัดพระบาทน้ำพุด้วย น่าจะรองรับได้ไม่น้อยกว่า 700 ตัว และมีพื้นที่ที่จัดเตรียมพื้นที่เพิ่มอีก

โดยวันนี้ 25 มีนาคม จะมีการย้ายลิงที่เป็นหัวโจกที่ ซึ่งก่อนย้ายได้มีการซักซ้อมแพทย์ ทีมงานที่จะขนลิง ล่อลิง จับลิง และทีมทำหมันลิง เพื่อวางแผน แน่นอนว่าเรื่องอากาศร้อนวันนี้ จะเป็นอุปสรรคทั้งลิง และคนจับลิง เพราะอากาศร้อนจะทำให้ลิงเครียด และคนก็เครียดด้วย ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่ในการจับลิง จะต้องให้ทั้งคนและลิงสบายใจด้วย

ส่วนเรื่องการขอเงินเยียวยา ที่กฎออกมา เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม นั้น สำหรับเคยล่าสุดเมื่อวันที่ 23 มีนาคม ที่ประชาชนได้รับบาดเจ็บจากลิง พุ่งเข้าไปดึงถุงกับข้าวจนรถล้มนั้น  สามารถยื่นร้องเยียวยาได้เลย แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 23 มีนาคม ไม่สามารถยื่นย้อนหลังได้

สำหรับหลักฐานที่สำคัญ ที่ผู้เสียหายจากการถูก ช้างป่า หมี ลิง กระทิง ทำร้ายนั้น จะต้องมีในการยื่นรับเงินเยียวยานั้น คือ เอกสารยืนยันตัวตน ลักษณะบาดแผล การยืนยันของแพทย์ ภาพถ่ายหรือคลิปวิดีโอ เพื่อยืนยันว่าเกิดเหตุขึ้นจริง แต่ในกรณีที่จุดเหตุไม่มีกล้องวงจรปิด ไม่มีภาพเหตุการณ์ สามารถใช้พยานที่เห็นเหตุการณ์ประกอบยื่นคำร้องได้ สำหรับการยื่นเรื่อง ให้ยื่นเรื่องไปที่จังหวัด แล้วหลังจากนั้นจังหวัดจะประสานกรมอุทยานฯ แต่หากจะให้สะดวกมากกว่า คือ ติดต่อสายด่วน 1362 ซึ่งหลังจากที่คณะกรรมการพิจารณาอนุมัติชดเชยเงินเยียว ไม่เกิน 30 วัน ผู้บาดเจ็บก็จะได้เงินเยียวยา ซึ่งการชดเชย จะชดเชยเฉพาะเรื่องของการบาดเจ็บทางร่างกายเท่านั้น

สำหรับงบประมาณที่นำมาใช้จ่ายเป็นเงินเยียวยานั้น เป็นเงินรายได้ จากการที่นักท่องเที่ยวจ่ายค่าเข้า เวลาเข้าไปเที่ยวในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ซึ่งค่าเข้าแต่ละแห่งนักท่องเที่ยวจะจ่ายครั้งละ 20-40 บาท ซึ่งจริงๆแล้ว เงินก้อนนี้จะนำไว้ทำนุบำรุงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ค่าใช้จ่ายอาหารสัตว์ แต่ที่ต้องใช้งบส่วนนี้ เพราะงบประมาณโดยตรงที่จะมาใช้เยียวยานั้นไม่มี แต่สำหรับกรณีเข้าไปล่าสัตว์ เข้าไปหาของป่า แล้วถูกสัตว์ป่าทำร้ายนั้น ไม่เข้าเงื่อนไขการเยียวยา เพราะถือว่าเป็นการทำผิดกฎหมาย

นอกจากนี้ คณะกรรมการได้คาดการณ์ว่า จะผู้ที่ได้รับการบาดเจ็บจาก ช้างป่า มาเรียกร้องเงินยาๆมากที่สุด เพราะช้างป่าตัวใหญ่ แล้วเข้าไปในที่ของชาวบ้านเป็นโขลง ซึ่งมักจะทำอันตรายคนได้รับบาดเจ็บ จนบางทีก็เสียชีวิต


สำหรับหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบซึ่งเกิดการสูญเสียต่อชีวิต บาดเจ็บ หรือทุพพลภาพ มีรายละเอียด อัตราเงินช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสัตว์ป่า ดังนี้
1. กรณีบาดเจ็บ
(1) ทุพพลภาพ      
- อัมพาต ได้รับเงินจำนวน  100,000 บาท
- สูญเสียแขน ขา หรือสายตา (ตาบอด) ทั้งสองข้าง  หรือ แขน ขา สายตา (ตาบอด) รวมสองแห่ง  ได้รับเงินจำนวน 100,000 บาท
- สูญเสียแขน ขา หรือสายตา (ตาบอด) หนึ่งข้าง ได้รับเงินจำนวน  50,000 บาท
(2) บาดเจ็บทั่วไป
- ได้รับบาดเจ็บเท่าที่จ่ายจริง ได้รับเงินจำนวนไม่เกิน 30,000 บาท
(3) ค่าขาดประโยชน์ในการทำมาหาได้ระหว่างพักรักษาตัว ระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน นับแต่วันที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติ ตามความเห็นแพทย์ ได้รับเงินจำนวนไม่เกิน 300 บาท (ต่อวัน)

2. กรณีเสียชีวิต
(1) ค่าช่วยเหลือเยียวยา จำนวน   100,000 บาท

ดังนั้น ผู้ที่ถูกลิงทำร้ายตลอดจนสัตว์ป่าดังกล่าวข้างต้น ทำร้ายจนบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต จึงสามารถประสานกับสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ในท้องที่ เพื่อขอรับเงินช่วยเหลือเยียวยา ได้ตามหลักเกณฑ์ที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กำหนดไว้ดังกล่าวข้างต้น

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark