ข่าวในหมวด ประเด็นร้อนออนไลน์

เห็ดขี้ควาย คืออะไร ผิดกฎหมายหรือไม่ เหตุใดจึงโดนจับ

จากข่าวที่เป็นประเด็นสุดร้อนแรงตอนนี้ ทำเอาหลายคนอยากรู้ว่า "เห็ดขี้ควาย" คือเห็ดอะไร ทำไมถึงผิดกฏหมาย วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับ "เห็ดขี้ควาย" กัน

เห็ดขี้ควาย (psilocybe mushroom) มีลักษณะหมวกเป็นรูปกระทะคว่ำแล้วแบนลง เส้นผ่านศูนย์กลาง 6.5-8.8 เซนติเมตร ผิวสีฟางข้าวอมเหลือง กลางหมวกมีสีน้ำตาลอมเหลือง มีเกล็ดเล็กๆ กระจายออกไปยังขอบหมวก ขอบมีริ้วสั้นๆ โดยรอบ ครีบสีน้ำตาลดำ ส่วนกลางกว้างกว่า ปลายทั้งสองข้าง ไม่ยึดติดกับก้าน  ก้าน ยาว 4.5-8 เซนติเมตรความสูงของลำต้นประมาณ 5.5-8 ซม. โคนใหญ่กว่าเล็กน้อย สปอร์ รูปรี สีน้ำตาลดำ ผนังหนา ผิวเรียบ ด้านบนมีปลายตัดเป็นรูเล็ก ๆ  

พบได้ในบริเวณทั่วไปในแทบทุกภาคของประเทศไทย เห็ดชนิดนี้ชอบขึ้นเป็นดอกเดี่ยวกลุ่มละ 4-5 ดอก บนพื้นดินที่มีมูลสัตว์พวกมูลวัว มูลควายแห้ง

ซึ่งเห็ดขี้ควายถือว่าเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ตามกฏหมายยาเสพติด โดยผู้นำจะเสพทั้งรูปแบบสดและแห้ง บางครั้งนำมาปรุงเป็นเมนูอาหารหรือเครื่องดื่ม เช่น ไข่เจียวเห็ด และเห็ดปั่นผสมเหล้า หรือคอกเทลสำหรับใช้เสพ ในกลุ่มนักท่องเที่ยวบางกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี อย่างไรก็ตามคนทั่วไปมักทราบ และรู้ว่าเห็ดนี้ เป็นเห็ดพิษ รับประทานแล้วจะมึนเมา จึงไม่มีการนำมารับประทาน

เมื่อเสพหรือกินเข้าไปจะทำให้มีอาการเมา เคลิบเคลิ้มและบ้าคลั่งในที่สุด เนื่องจากสาร psilocybine และ psilocine มีฤทธิ์ต่อระบบประสาทอย่างรุนแรง ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ประสาทหลอน เห็นภาพแสงสีต่างๆ ลวงตา เช่น เห็นแมงมุมหรือสัตว์ประหลาดลงไปในท้อง รู้สึกมีเข็มมาทิ่มแทงตามตัว ได้ยินเสียงฟ้าร้อง ฟ้าผ่า สับสน ไม่สามารถลำดับทิศทางได้ มีความคิดและอารมณ์เปลี่ยนแปลง มีอาการคล้ายผู้ที่เสพ LSD คนที่ใช้มานานๆ จะเพลินต่อความรู้สึกต่างๆ ร่างกายจะเกิดการต้านยา ต้องเพิ่มขนาดการเสพขึ้นเรื่อยๆ

บทลงโทษ
  • ผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครอง หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับและปรับไม่เกิน 500,000 บาท ทั้งนี้ ตามมาตรา 93 ประกอบมาตรา 148 แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด
  • ผู้ใดเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท ทั้งนี้ ตามมาตรา 104 ประกอบมาตรา 162แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด

BUGABOONEWS
ขอบคุณข้อมูลจาก กองควบคุมวัตถุเสพติด , สำนักงานปลัด กระทรวงยุติธรรม

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark