ข่าวในหมวด ประเด็นร้อนออนไลน์

แพทย์ไขคำตอบ กินทุเรียนตอนเมา เสี่ยงอันตรายจริงหรือ ?

พญ.ดรุณีวัลย์ วโรดมวิจิตร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ไขข้อสงสัย กินทุเรียนตอนเมาอาจถึงขั้นเสียชีวิต จริงหรือ? พร้อมบอกสาเหตุ ดังนี้
  1. ร่างกายจะมีกระบวนการในการทําลายแอลกอฮอล์ โดยการเปลี่ยนแอลกฮอล์ให้เป็นอะเซตาดีไฮด์ และอะซีเตท โดยใช้เอนไซม์แอลกอฮอล์ดีไฮโดรจีเนส (alcohol  dehydrogenase, ADH) และแอลดีไฮน์ดีไฮโดรจีเนส (aldehyde dehydrogenase, ALDH) ตามลําดับ จากนั้นอะซีเตทจะเปลี่ยนเป็นน้ำและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และขับออกจากร่างกายในที่สุด ข้อมูลจากงานวิจัยพบว่าสารประกอบซัลเฟอร์ที่มีปริมาณมากในทุเรียนสามารถยับยั้งการทํางานของเอนไซม์ ALDH ดังนั้นการรับประทานทุเรียนร่วมกับการดื่มเหล้าอาจจะทําให้การทําลายแอลกอฮอล์ไม่สมบูรณ์ เกิดการคั่งของสารตัวกลาง เช่น อะเซตาดีไฮด์ ทําให้มีอาการไม่พึงประสงค์ เช่น หน้าแดง เหงื่อออก คลื่นไส้อาเจียน เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ หายใจเร็ว ซึ่งอาการดังกล่าวจะคล้ายกับอาการของผู้ที่ได้รับยาเลิกเหล้าชื่อ ไดซัลฟูแรม (Disulfuram หรือ tetraethylthiuram disulfide) ส่วนใหญ่อาการดังกล่าวไม่ค่อยจะรุนแรง อย่างไรก็ตามในบางรายที่มีปฏิกิริยารุนแรงอาจจะทําให้เกิดภาวะหายใจลําบาก หัวใจล้มเหลว และอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
  2. ทุเรียนเป็นผลไม้ที่ให้พลังงานสูง โดยมีคาร์โบไฮเดรตและไขมันสูง เนื้อทุเรียน 100 กรัมให้พลังงาน 150-160 แคลอรี่ ขณะเดียวกันเหล้าหรือแอลกอฮอล์เองก็ให้พลังงานสูงและดูดซึมได้อย่างรวดเร็ว โดยแอลกอฮอล์ 1 กรัม ให้พลังงาน 7 แคลอรี่เทียบกับคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนให้พลังงาน 4 แคลอรี่ต่อกรัม และไขมันให้พลังงาน 9 แคลอรี่ต่อกรัม

ดังนั้นการรับประทานทุเรียนร่วมกับการดื่มเหล้าจะทําให้ร่างกายได้รับพลังงานสูงอย่างรวดเร็ว ร่างกายจะทําการย่อยอาหารทําให้เกิดความร้อนเพิ่มขึ้น น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น นอกจากนี้การดื่มแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะ ส่งเสริมให้ร่างกายมีภาวะขาดน้ำได้  ยิ่งถ้าเป็นคนที่มีโรคประจําตัวเบาหวาน รับประทานยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ  อาจจะกระตุ้นให้เกิดภาวะขาดน้ำ น้ำตาลในเลือดสูงและเกลือแร่ผิดปกติได้

BUGABOONEWS
ขอบคุณข้อมูลจาก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark