ข่าวในหมวด ข่าวออนไลน์ News

หมอรามา เผย เคี้ยวกระท่อม ไม่ช่วยกระตุ้นขับขี่ หากมึนเมาก็ถูกจับ

ความเชื่อผิดๆ หมอรามา เผย #เคี้ยวกระท่อม ไม่ช่วยกระตุ้นขับขี่ หากมึนเมาก็ถูกจับ ชี้ หยุดใช้ 4-6 ชม. จะมีอาการถอนยา ปล่อยเข้าถึงง่าย ใช้ร่วมยาแก้แพ้ ยาบ้า เหล้าสุรา เสริมฤทธิ์รุนแรง เพิ่มอัตราเสียชีวิต

วันนี้ (14 พ.ค.67) รศ.นพ.สหภูมิ ศรีสุมะ ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี บรรยายการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับ "โทษพิษภัยกระท่อมและกัญชา" ระบุว่า ขนาดของสารเป็นตัวกำหนดว่าสารนั้นจะเป็นพิษต่อตัวผู้รับหรือไม่ โดยกระท่อมมีสารหลัก 2 ชนิดมีฤทธิ์ต่างกัน คือ Mitragynine เน้นเรื่องสารกระตุ้น และ 7-Hydroxymitragynine เน้นการกดประสาทและการลดปวด โดยตามวิถีชาวบ้านส่วนที่นำมาใช้คือ นำใบมาเคี้ยว หรือต้มเป็นชาจาง ๆ ดื่ม ใช้ในฐานะสารกระตุ้น ช่วยให้ทำงานได้นานขึ้น แต่ปัจจุบันมีการแปรรูปกัญชาเป็นผง เม็ด แคปซูล และใช้ในปริมาณเข้มข้นสูง ซ้ำร้ายนำมาผสมเสพกับสารชนิดอื่น ทำให้เกิดมึนเมามีอาการคลื่นไส้ อาเจียน สับสนกระบวนกระวาย ชัก กล้ามเนื้อบิดเกร็ง เป็นอาการของสารกระตุ้น ส่วนอาการง่วงซึม โคม่า หยุดหายใจและหัวใจล้มเหลว ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วช้า ความดันสูง/ต่ำ เสี่ยงเสียชีวิตได้

ในต่างประเทศผู้ใช้จะเป็นผู้หญิง ใช้เพื่อบรรเทาอาการปวด ลดความรู้สึกซึมเศร้า แต่กลายเป็นติดกระท่อมแทน ซึ่งมีผลการศึกษาจากหลายประเทศที่ใช้เพื่อบรรเทาปวด พบว่าหากหยุดใช้กระท่อม 4-6 ชั่วโมง หรือลดปริมาณการใช้ลง จะมีอาการถอนยา เหงื่อแตก น้ำมูกไหล ปวดกล้ามเนื้อ หงุดหงิด กังวล คลื่นไส้ ท้องเสียง และถ้าไม่ใช้กระท่อมก็ไม่สามารถทำงาน หรือมีชีวิตอยู่ตามปกติได้ โดยกระท่อมยังส่งผลถึงเด็กในครรภ์ เมื่อเด็กคลอดแล้วจะรับอาหารไม่ได้ กระวนกระวาย อาเจียน ต้องนอน แม่ต้องนอนรพ.เฉลี่ย 10 วัน บางรายมีอาการมาก อาจต้องให้มอร์ฟินในการรักษา ซึ่งคนท้องติดกระท่อมให้ปรึกษาหมอบรรเทาความรุนแรง หมอจะให้ลดและเลิกกระท่อม

กระท่อมในสหรัฐมีสถิติเข้าไอซียูสัดส่วนมากพอควร และการใช้กระท่อมเพียงอย่างเดียวในสหรัฐก็มีสัดส่วนการตายมาก เพราะสหรัฐใช้กระท่อมแปรรูป ซึ่งในธรรมชาติสัดส่วนของ Mitragynine มีมากกว่า 7-Hydroxymitragynine หลายเท่า เมื่อนำไปผลิตแปรรูปบางส่วนกลายเป็นว่ามีสาร 7-Hydroxymitragynine ซึ่งมีฤทธิ์กดการหายใจมากกว่าสัดส่วนที่มีในธรรมชาติ จึงเป็นเหตุเสียชีวิตได้ ในประเทศไทยก็มีเสียชีวิตเหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่เกิดจากการใช้ผสมกับยาอื่น ทำให้ฤทธิ์เสริมกัน หรือยาตีกัน ทำให้เกิดความรุนแรงของพิษมากขึ้น 

นอกจากนี้ หากดื่มน้ำกระท่อมมากกว่า 4 แก้วต่อวันและต้องแอดมิตโรคอื่น จะมีเรื่องของซึมเศร้า เหมือนสารกระตุ้นมันหายไป เพิ่มความเสี่ยงขึ้น 3 เท่า และรู้สึกถึงอาการปวดมากขึ้น มีปัญหาการนอนประมาณ 2 เท่า ผู้ที่มีโรคประจำตัวต้องปรึกษาหมอก่อน เพราะกระท่อมมีปฏิกิริยากับยาหลายชนิด ทำให้เกิดผลข้างเคียงร้ายแรง

การเสพกระท่อมแบบเคี้ยวตามวิถีชาวบ้านไม่เหมือนแปรรูป หรือเสพผสมอย่างอื่น ซึ่งการปล่อยให้เข้าถึงกระท่อมได้ง่าย มีแนวโน้มนำไปใช้ผสมกับสารอื่น หรือติดสารเสพติดอื่นได้ง่าย โดยข้อมูลจากศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี พบว่าสถิติปี 2564 มีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากพิษกระท่อมจำนวน 139 ราย ส่วนปี 2565 มีเพิ่มขึ้นจำนวน 329 ราย ขณะที่ข้อมูลจากนิติเวชเก็บข้อมูล 5 ปีย้อนหลัง ตรวจศพผู้ที่เสียชีวิตในบ้าน พบมีสารกระท่อมในร่างกาย 1 เปอร์เซ็นต์ มีอายุเฉลี่ย 35 ปี โดยช่วงอายุที่น้อยสุดคือ 17 ปี ใช้กระท่อมร่วมกับยาแก้แพ้ ยาบ้า และสุรา

ทั้งนี้ ยังมีข้อมูลว่าผู้ใช้กระท่อม 60 เปอร์เซ็นต์ เสียชีวิตในบ้าน 25 เปอร์เซ็นต์เสียชีวิตในโรงพยาบาล และ 17 เปอร์เซ็นต์ เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ โดยจำนวนนี้ 25 เปอร์เซ็นต์เป็นอุบัติเหตุทางจราจร เพราะเมื่อได้รับสารกระตุ้น ความยับยั้งชั่งใจจะลดลง ก็จะเร่งขับเร็วขึ้นก็เป็นความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุยานยนต์ได้ จึงไม่น่าจะกระตุ้นการขับขี่ได้ หากมีอาการมึนเมาจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ทางบก ม.43 (2) ห้ามขับรถขณะเมาสุราหรือของมึนเมาอื่น นอกจากนี้ ฤทธิ์ของกระท่อมยังเพิ่มอัตราฆ่าตัวตาย เสพยาเกินขนาด ทำร้ายตัวเองเพิ่มขึ้น

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark