ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

แพทย์แนะ หนี -ซ่อน -สู้ เอาตัวรอดจากเหตุกราดยิง

เช้านี้ที่หมอชิต - ศัลยแพทย์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ แนะวิธีเอาตัวรอดจากเหตุกราดยิง "หนี-ซ่อน-สู้" ย้ำผู้ปกครองให้จำลองสถานการณ์ฝึกเด็กเล็กเอาตัวรอดหากต้องเผชิญเหตุ

จากเหตุการณ์คนร้ายกราดยิงประชาชนในห้างสรรพสินค้ากลางเมืองนครราชสีมา ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก เมื่อวานนี้ (11 ก.พ.) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ระดมทีมแพทย์ จัดเสวนา "Escape and Survive in Mass Shooting" ถอดบทเรียนจากเหตุกราดยิงที่จังหวัดนครราชสีมา

รองศาสตราจารย์นายแพทย์รัฐพลี ภาคอรรถ ศัลยศาสตร์แพทย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย แนะวิธีสังเกตสัญญาณอันตรายที่บ่งชี้ก่อนเกิดเหตุ ว่าบริเวณรอบข้างมีเสียงดังผิดปกติ เช่น เสียงปืน เสียงระเบิด หรือเสียงกรีดร้อง รวมถึงฝูงชนว่าวิ่งไปทิศทางไหน และต้องสังเกตแหล่งที่มาของเสียง จำนวนของผู้ก่อเหตุ เพื่อหาทิศทางการหลบหนี ย้ำหากอยู่ในแหล่งชุมชน ที่มีผู้คนพลุกพล่าน ต้องไม่ใส่หูฟัง ไม่จดจ่อกับโทรศัพท์ และหมั่นสนใจสถานการณ์รอบข้าง เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ

และหากต้องเผชิญกับสถานการณ์คนร้ายกราดยิง วิธีเอาตัวรอดที่ดีที่สุด คือ หนี-ซ่อน-สู้ อันดับแรกคือ หนีออกมาให้ไกลที่สุดจากจุดเกิดเหตุให้มากที่สุด หากหนีไม่ได้ ให้หาที่หลบซ่อนตัว ที่มีกำบังมิดชิด แข็งแรง ปิดเครื่องมือสื่อสาร และงดการใช้เสียง สุดท้ายหากหนี และซ่อนตัวไม่ได้ ให้เตรียมตัวสู้สุดชีวิต

รองศาสตราจารย์นายแพทย์รัฐพลี ยังเน้นย้ำไปถึงผู้ปกครอง ควรปลูกฝังการเอาตัวรอดเบื้องต้นให้กับเด็กเล็ก เช่น ฝึกให้ท่องเบอร์โทรศัพท์ ฝึกการสังเกตป้ายทางหนีไฟ หรือทางออกตามสถานที่ต่าง ๆ ฝึกให้รู้จักการหนีและหลบหนีออกจากที่อันตราย รวมทั้งฝึกวิธีการหนีแอบซ่อน และฝึกให้เงียบเสียงขณะหลบซ่อน โดยใช้วิธีเล่นเกมจำลองสถานการณ์เพื่อให้เด็กเกิดความคุ้นเคย

นอกจากนี้ ได้มีการสาธิตการการห้ามเลือดให้กับตัวเอง หรือช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจากเหตุกราดยิง ในกรณีที่ทีมแพทย์ยังไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้ อันดับแรกให้ย้ายร่างผู้บาดเจ็บไปปฐมพยาบาลในพื้นที่ปลอดภัย หากพบบาดแผลถูกยิงที่ไม่ได้อยู่จุดสำคัญ เช่น แขน ขา ให้นำผ้าสะอาดที่สามารถหาได้ในที่เกิดเหตุ เช่น ผ้าเช็ดหน้า หรือเสื้อผ้า กดไปที่บาดแผลประมาณ 10 นาที เพื่อให้เลือดแข็งตัว โดยห้ามเปิดดู เพราะจะทำให้เลือดออกมากกว่าเดิม จนทำให้เกิดอันตรายแก่ผู้บาดเจ็บได้

ส่วนกรณีที่เลือดไหลไม่หยุดให้ใช้วิธี ขันชะเนาะ โดยใช้ผ้าที่มีความยาว เช่น ถุงเท้า หรือ เนกไท มัดบริเวณ เหนือบาดแผลประมาณ 3 นิ้ว เพื่อห้ามเลือดและพยายามบันทึกเวลาที่ห้ามเลือดเพื่อเป็นข้อมูลให้กับแพทย์ หากยังไม่ถึงมือแพทย์ให้คลายชะเนาะทุก ๆ 10 นาที ป้องกันอวัยวะขาดเลือด หากผู้บาดเจ็บได้รับการปฐมยาบาลเบื้องต้นที่ถูกต้องและรวดเร็วจะช่วยให้มีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้น

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark