ข่าวอื่นๆ

คณะวินัยฯสมาคมฯ ตามความคืบหน้า คดีแฟนบอล ฉะเชิงเทรา ไฮเทค - พัทยา ดอลฟินส์ ก่อเหตุวิวาท


ตามที่ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มอบหมายให้ คณะกรรมการพิจารณาวินัย มารยาท พิจารณา กรณีที่กองเชียร์ของ สโมสร ฉะเชิงเทรา ไฮเทค เอฟซี และ พัทยา ดอลฟินส์ ยูไนเต็ด ก่อเหตุทะเลาะวิวาท ในการแข่งขันฟุตบอล ไทยลีก 3 โซนภาคตะวันออก เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา

สำหรับเหตุการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นในช่วงนาทีที่ 82 ของการแข่งขันที่กองเชียร์ทีม พัทยา ดอลฟินส์ ยูไนเต็ด และกลุ่มชายฉกรรจ์ 5-6 คน ที่นั่งอยู่บนรถน้ำได้เกิดเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทอย่างรุนแรงบริเวณด้านหลังอัฒจันทร์ทีมเยือน ซึ่งไม่ทราบว่ากลุ่มชายฉกรรจ์ที่นั่งอยู่บนรถน้ำที่เกิดการปะทะเป็นใคร เพราะไม่ใช่เป็นกลุ่มที่ตะโกนด่าทอกับกองเชียร์ทีมพัทยา ดอลฟินส์ ยูไนเต็ด

ในเบื้องต้น ทางกองเชียร์ทีม พัทยา ดอลฟินส์ ยูไนเต็ด ได้เข้าแจ้งความไว้กับทาง สน.ท้องที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีผู้บาดเจ็บเป็นกองเชียร์ทีมพัทยา ดอลฟินส์ ยูไนเต็ด ทั้งหมดจำนวน 4 ราย หนึ่งในนั้นได้รับบาดเจ็บ สาหัสถึงกับแขนหัก

สำหรับเหตุการณ์ดังกล่าว ทางคณะวินัยฯ ได้ติดตามความคืบหน้าของคดี รวมถึงรวบรวมพยานหลักฐาน และบุคคลทั้งหมด เพื่อประกอบคำพิจารณา พร้อมกันนี้ยังมีคำชี้แจงจากทั้งสองสโมสร

โดยทาง พลตำรวจโทอำนวย นิ่มมะโน ประธานคณะกรรมการวินัยมารยาทฯ ยืนยันที่จะใช้หลักการในมาตรฐานเดียวกันกับกรณีที่กองเชียร์ สโมสรเมืองทอง ยูไนเต็ด กับ สโมสรการท่าเรือ เอฟซี ที่เคยเกิดขึ้น เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2559

กล่าวคือ หากพบว่ามีผู้ใดกระทำความผิด จะถูกลงโทษ ตามระเบียบ ว่าด้วยการลงโทษฯ ข้อ 4.10 ก่อการทะเลาะวิวาทกับกองเชียร์ทีมเหย้า หรือทีมเยือน ในสถานที่จัดการแข่งขัน องค์กรสมาชิกต้นสังกัดของกองเชียร์ที่ก่อเหตุ จะถูกปรับเงิน 100,000 บาท และระเบียบ การลงโทษฯ บทที่ 3 หมวดที่ 1 ข้อ 2 ลักษณะโทษของทีมหรือองค์กรสมาชิก ข้อ ค. เล่นโดยไม่อนุญาตให้กองเชียร์เข้าสนาม ประกอบกับกฎ “ฟีฟ่า” (FIFA Disciplinary Code) section 9 ข้อ 65 และ 67 ห้ามกองเชียร์ทั้งสองสโมสรเข้าชมการแข่งขัน ในทุกนัดที่เหลืออยู่ที่สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ จัดการแข่งขันของฤดูกาล

นอกจากนี้ การพิจารณาลงโทษ ทีมเหย้า จะลงโทษตามระเบียบว่าด้วยการลงโทษฯ ข้อ 5.3.17 ความบกพร่องด้านการรักษาความปลอดภัยในแข่งขัน ข้อ ข. “ไม่สามารถป้องกันหรือระงับเหตุที่เกิดขึ้นจากการกระทำสถานที่จัดการแข่งขันไม่ว่ากรณีใดๆ ก็ตามและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นภาพลบต่อการแข่งขันฟุตบอลลีกอาชีพ องค์กรสมาชิกที่เป็นทีมเหย้า จะถูกปรับเงิน 100,000 บาท” และลงโทษตามระเบียบว่าด้วยการลงโทษฯ บทที่ 3 หมวดที่ 1 ข้อ 2 ลักษณะโทษของทีมหรือองค์กรสมาชิก ข้อ ง. และ จ. ประกอบกับกฎ “ฟีฟ่า” (FIFA Disciplinary Code) section 9 ข้อ 65 และ 67 ที่เมื่อสนามเหย้า ไม่ได้มาตรฐาน ในเรื่องของการรักษาความปลอดภัย มีเหตุการณ์ทำร้ายร่างกายของกองเชียร์ในบริเวณสนาม เกิดขึ้นหลายครั้ง อาจสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดเหตุการณ์ทำร้ายร่างกายของกองเชียร์ขึ้นได้อีก จึงเห็นควรห้ามสโมสรใช้สนามเหย้า ในทุกรายการที่สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ จัดขึ้น เป็นจำนวน 5 นัด เพื่อให้สโมสรดำเนินการปรับปรุงระบบการักษาความปลอดภัยในการใช้สนามให้ได้มาตรฐานตามที่กำหนดต่อไป

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark