เงินทองของจริง

เปิดสูตรไม่ลับ ฉบับคนเริ่มออมเงินวางแผนเกษียณ เริ่มตอนไหน เก็บอย่างไร และเท่าไรถึงพอใช้?

รู้หรือไม่ !?! คนไทยแค่ 2.3% เท่านั้นที่มีเงินออมใช้หลังเกษียณ

แล้วทำอย่างไรเราถึงจะเก็บเงินได้ มีวิธีหรือตัวช่วยใดที่จะทำให้เก็บเงินสำเร็จ เพื่อให้มีชีวิตที่สบายหลังเกษียณ

มาเปิดสูตรวางแผน “4 10 17” สูตรไม่ลับฉบับคนเริ่มออมเงินไปด้วยกัน

เคน-นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ และ โค้ชหนุ่ม-จักรพงษ์ เมษพันธุ์ ชวนพูดคุยเรื่องของชีวิตหลังเกษียณ ที่เกิดปัญหาคือ เมื่ออายุ 60 หรือ 65 ปีขึ้นไป มารู้ตัวอีกทีไม่มีเงินใช้ โดยมีข้อมูลระบุว่าคนไทย 2.3% เท่านั้นที่มีเงินออมใช้หลังเกษียณ เนื่องจากคนส่วนใหญ่มักจะนึกไม่ถึง

โค้ชหนุ่ม เปิดเผยว่า เรื่องของการวางแผนการเงิน เคยมีคนทำตัวเลขกันไว้เป็นสูตร “4 10 17” กล่าวคือ หากเอาแบบ อยู่แบบพอมีพอกิน ไม่เดือนร้อนมาก หัวใจสำคัญอันดับแรกคือไม่มีหนี้ โดยก่อนเกษียณต้องเคลียร์หนี้ให้จบแล้วหลังเกษียณให้มีเงินไว้ใช้สัก 4 ล้านบาท ก็จะพออยู่ได้สักประมาณ 20 ปี หลังเกษียณ คิดเป็นอัตราการใช้จ่ายต่อหนึ่งวันตกประมาณ 300 กว่าบาทแบบปรับงินเฟ้อแล้ว ถ้าต้องการอยู่สุขสบายขึ้นมาหน่อย มีเงินไว้ท่องเที่ยวเล็กน้อย ก็ต้องเตรียมเงินไว้ 10 ล้านบาท แต่ถ้าต้องการอยู่แบบสบายเลย มีชีวิตหรูหรา ก็ต้องเตรียมเงินไว้ประมาณ 17 ล้านบาท ทั้งนี้ โจทย์สำคัญร่วมกันคือ “ไม่มีหนี้” แต่ยังไม่นับเรื่อง ผ่อนรถ ผ่อนบ้าน เอาเฉพาะเงินสดที่เราเอาไว้บริหารจัดการ

สำหรับแนวทางในการออมเงิน โค้ชหนุ่ม แนะนำว่า หากหาเงินได้ 100 บาท ต้องออมให้ได้สัก 10 บาท และพยายามอย่าใช้วิธีการแบบควบคุมตัวเอง เพราะมนุษย์เราควบคุมตัวเองไม่ได้ ให้ใช้วิธีหักอัตโนมัติไปเลย หรืออาจใช้ ประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เป็นตัวช่วยด้วยก็ได้ ทั้งนี้ เมื่อเริ่มเก็บเงินก็อาจจะรู้สึกว่าเป้าหมาย 1 ล้านบาทแรกนั้นอยู่ไกล แต่ถ้าเราไม่เริ่มเก็บ เงินก็จะไม่พอกพูนขึ้น และเมื่อเราทำได้ ผลตอบแทนของเงินล้านนั้นก็จะโตขึ้นเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้น ความยากคือการไปให้ถึง 1 ล้านบาทแรกให้เร็ว

โค้ชหนุ่ม ได้ยกตัวอย่างว่า คนทำงานในระบบบริษัทเอกชนทั่วไป สิ่งที่เขาไม่รู้ก็คือว่าทุก ๆ เดือน เขามีการส่งประกันสังคม สมมติว่าเราส่งตั้งแต่อายุ 20 ปี แล้วเกษียณที่อายุ 55 หรือ 60 ปี เราจะมีเงินเก็บที่ประกันสังคมจะจ่ายให้เราหลังเกษียณจนถึงวันตาย ตกเดือนละประมาณ 7,500 บาท เมื่อลองเอา 7,500 คูณ 12 ดู แล้วคูณ 20 ปีดู ก็จะพบว่าได้เป็นล้าน หรือบางคนก็อาจมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่บริษัทก็พยายามเก็บสะสมเพราะว่าบริษัทจะสมทบให้ หรือใครเป็นข้าราชการ ก็จะมี กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เมื่อทำงานไปแล้ว รัฐฯ ก็จะสมทบให้อีก สิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นตัวช่วย แต่หากไม่มีตัวช่วยเลย ก็อาจจะใช้พวกกองทุนสิทธิประโยชน์ทางภาษีได้ เพียงแต่ความยากคือการที่จะเริ่มต้นเท่านั้นเอง เมื่อเริ่มทำได้แล้วก็ทำให้สม่ำสมอ นี่คือหัวใจ

โค้ชหนุ่ม ยกตัวอย่างต่อไปว่า มีพี่ท่านหนึ่ง ไปวางแผนเกษียณตอนอายุ 59 ปี ตนก็เคยบอกไปว่าพี่วางแผนช้าไป แต่ปรากฏว่า พี่คนนี้เขาเตรียมตัวมาดีมาก เริ่มเก็บเงินตั้งแต่เรียนจบทำงานปีแรก จนพออายุประมาณสัก 40 ปี แกเอาเงินกลับไปซื้อที่ที่ต่างจังหวัด จากนั้นทุกปีเวลากลับบ้านแกก็จะเอาพืชพันธุ์ไปปลูก ไปขุดบ่อปลา ไปทำนี่ทำนั่นไปเรื่อย ๆ จนเมื่อถึงตอนเกษียณ พี่ท่านนั้นได้เปิดเผยว่า ในหนึ่งเดือนเขาใช้เงินเพียง 3,000 บาท เพราะมีข้าว มีผัก มีปลา พร้อมอยู่แล้ว ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่านี่ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการเก็บเงินไว้ใช้หลังเกษียณ โดยอาจจะไม่ต้องเป็นเงินก้อนก็ได้

โค้ชหนุ่ม ได้เสริมว่า ขอให้ทุกคนเริ่มวางแผนการออกแบบเก็บเงินตั้งแต่วันนี้เลย เพราะทุกอย่างเป็นไปได้หมด อีกทั้งเรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุที่ไม่มีเงินใช้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัวและเป็นปัญหาของประเทศได้เลย และที่สำคัญที่สุด การบริหารการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเมื่อเราบริหารการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้ดี ก็จะมีเงินเหลือเก็บ แต่ถ้าวันนี้ทุกวันเรายังใช้เต็มใช้หมด ก็จะไม่เหลือ ดังนั้น ให้คิดถึงอนาคตไกล ๆ เข้าไว้ ไม่เช่นนั้น สุดท้ายปัญหาจะมาฟ้องมาเตือนเราในตอนที่เราแก้ไขอะไรอาจจะช้าไปแล้ว

ติดตาม รายการ “เงินทองของจริง” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.05-9.15 น. ทางช่อง 7HD กด 35

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark