แบไต๋7เอชดี (beartai7HD)

ตอบข้อสงสัย! รถยนต์ไฟฟ้า ใช้มาตรฐานอะไรวัดระยะทาง จะตรงตามที่เคลมจริงหรือไม่?

รถยนต์ไฟฟ้าที่ค่ายรถหลายค่ายต่างเคลมกันว่าขับขี่ได้ไกลหลายร้อยกิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง แล้วเคยสงสัยกันไหมว่า ระยะทางที่ค่ายรถกำหนดนั้นมาจากไหน ใครเป็นคนทดสอบ แล้วขับจริงๆ แล้วถึงระยะที่เคลมไว้หรือไม่

โดยมาตรฐานระยะทางของรถยนต์ไฟฟ้า เป็นค่าที่ได้มาจากการทดสอบจำลองขับขี่ในสถานการณ์ต่าง ๆ ภายในห้องทดลอง โดยบริษัทรับทดสอบที่เห็นได้บ่อยในปัจจุบัน มีอยู่ 3 เจ้า คือ NEDC / WLTP / EPA เริ่มจากที่แรกก่อน

NEDC (New European Driving Cycle) เป็นมาตรฐานโบราณที่ใช้กันมาตั้งแต่ปี 1970 (มีคำว่า New ในชื่อ) เริ่มใช้ในยุโรป ก่อนที่แพร่หลายมาถึงเอเชีย วิธีการทดสอบของ NEDC นั้นจะเป็นการทดสอบในห้องทดลอง ที่จำลองการขับขี่ในเมืองและนอกเมือง ใช้ทดสอบระยะทางทั้งรถยนต์สันดาปและรถยนต์ไฟฟ้า แต่รถรถยนต์ไฟฟ้านั้นจะจำลองการขับขี่ในเมืองและนอกเมืองไปเรื่อย ๆ จนกว่าแบตเตอรี่จะหมด จึงจะได้ตัวเลขออกมาคำนวณเป็นระยะทางสูงสุด

WLTP (Worldwide Harmonized Light Vehicle Test Procedure) มาตรฐานใหม่ของยุโรปเข้ามาแทนที่มาตรฐาน NEDC เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2017 เนื่องจากมีการทดสอบที่ละเอียดกว่า และมีการนำสถานการณ์จริงบนท้องถนนเข้ามาเป็นส่วนประกอบในการทดสอบด้วย เช่น อุณหภูมิห้อง, ความหนาแน่นของอากาศ, เชื้อเพลิง, คุณภาพของน้ำมันเชื้อเพลิง, ความเร็วลมและเครื่องวัดความเร็ว เพื่อให้ได้ค่าออกมาตรงกับความเป็นจริงให้ได้มากที่สุด

โดยใน 1 รอบการทดสอบใช้เวลาประมาณ 30 นาที คิดเป็นระยะทาง 23.26 กิโลเมตร โดยใช้ความเร็วในการทดสอบแตกต่างกันไปตามสภาพการขับขี่ โดยขับสลับวนไปจนกว่าแบตเตอรี่จะหมด แล้วนำตัวเลขที่ได้มาคำนวณเป็นระยะทางสูงสุดต่อการชาร์จ 1 ครั้ง

US EPA (United States Environmental Protection Agency) มาตรฐานการวัดระยะทางของอเมริกา ที่ใช้หาอัตราการเผาผลาญเชื้อเพลิงและพลังงานไฟฟ้าก่อนวางจำหน่าย พูดง่าย ๆ รถยนต์ทุกรุ่น ทั้งสันดาป ไฮบริดและไฟฟ้าของอเมริกาล้วนผ่านการทดสอบจาก EPA ทั้งหมด ซึ่งแบ่งการทดสอบออกเป็นการขับขี่ในเมือง การขับขี่ทางไกลภายในห้องทดลองและจำลองการขับขี่รูปแบบต่าง ๆ ทั้งการในความเร็วสูง, ขับแบบเปิดเครื่องปรับอากาศในสภาวะอากาศร้อนและอากาศเย็น เช่นกัน

แต่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าจะมีขั้นตอนมากกว่านั้น เพราะต้องชาร์จแบตเตอรี่จนเต็ม แล้วจอดทิ้งไว้ข้ามคืน ก่อนนำมาทดสอบจำลองการขับขี่ในเมืองและการขับขี่ทางไกล สลับไปจนกว่าแบตเตอรี่จะหมด จึงนำตัวเลขนั้นมาคำนวณระยะทางสูงสุด

ข้อสงสัย แล้วเราควรเชื่อมาตรฐานไหนมากกว่ากัน? จากผลการทดสอบ ตัวเลขระยะการขับขี่ที่ออกมามากที่สุดจะเป็นของ NEDC  WLTP  EPA เนื่องจาก EPA เน้นการใช้งานขับขี่ทางไกลด้วยความเร็วสูงกว่า ทำให้มีการเผาผลาญพลังงานได้ไวกว่า ตัวเลขที่ออกมาจึงน้อยกว่าฝั่งยุโรปเล็กน้อย

ทั้งนี้ขอให้เข้าใจตรงกันว่า ตัวเลขที่ค่ายรถแสดงออกมาก็ไม่ใช่ตัวเลขจริงที่การันตีการขับขี่เสมอไป เพราะว่าการขับขี่ของแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน สภาพแวดล้อมก็แตกต่างกัน จึงส่งผลถึงการใช้พลังงานแตกต่างกันไปด้วย เช่น รถยนต์ไฟฟ้าคันนี้เคลมว่าขับขี่ได้สูงสุด 500 กิโลเมตร แต่เอามาใช้จริงอาจจะขับได้แค่ 400 กิโลเมตรเท่านั้น

แต่ก็สามารถใช้ระยะทางสูงสุดเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อรถไฟฟ้า ที่เหมาะสมกับการใช้งานของตัวเองได้ จึงจะทำให้การใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าในชีวิตประจำวันสนุกยิ่งขึ้น

ติดตามรายการ แบไต๋ 7HD ไอทีและยานยนต์ ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.20-12.40 น. ทางช่อง 7HD กด 35

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark