แบไต๋7เอชดี (beartai7HD)

คุยกับ การไฟฟ้า! ทำไมค่าไฟฟ้าแพงขึ้น ภาครัฐมีแนวทางช่วยเหลือบ้างหรือไม่?

การไฟฟ้านครหลวง แจง! การปรับค่า Ft เป็นเรื่องปกติ เหตุ สะท้อนต้นทุนการผลิต จากค่าน้ำมันที่สูงขึ้น เผย ยังไม่ถึงจุดพีค แย้ม มีแนวโน้มปรับเพิ่มอีก แนะ ประชาชนล้างแอร์-ติดแผงโซลาร์เซลล์

มาถึงช่วง “Tech Talk” ในรายการ “แบไต๋ 7HD ไอทีและยานยนต์” พบกับ “จาตุรงค์ สุริยาศศิน” รองผู้ว่าการไฟฟ้านครหลวง (MEA) สืบเนื่องจากมติกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2565 ได้มีการปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ ค่า Ft ในรอบเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2565 เป็น 24.77 สตางค์/หน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 4 บาท/หน่วย

จาตุรงค์ ได้ชี้แจงว่า คำว่า “ค่าไฟฟ้าแตะ 4 บาท” อันที่จริงไม่ใช่แตะ 4 บาทแบบนั้น เนื่องจากว่า อัตราค่าไฟฟ้าที่เราใช้งานกันมีหลายประเภท โดยมีถึง 8 ประเภทด้วยกัน อาทิ บ้านอยู่อาศัย กิจการขนาดเล็ก กิจการขนาดใหญ่ อุตสาหกรรม ซึ่งอัตราค่าไฟฟ้าก็จะมีความแต่งต่างกัน แต่อาจเกิดการคำนวณและนำมาเฉลี่ยกันจะเกิดเป็นตัวเลข “4 บาท”

จาตุรงค์ ชี้แจงต่อไปว่า เหตุผลที่ต้องมีการปรับราคาขึ้น เป็นความพยายามที่จะสะท้อนต้นทุนของการผลิตไฟฟ้าเป็นหลัก จึงแบ่งค่าไฟออกเป็น 2 ส่วน คือ ค่าไฟฟ้าส่วนฐาน กับ ค่า Ft โดยทั้งสองส่วนจะประกอบเป็นผ้าไฟฟ้าที่เราต้องเสีย ทั้งนี้ ในส่วนของค่า Ft เป็นตัวที่แยกออกมาสำหรับต้นทุนที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยไม่สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายในการผลิตได้ อาทิ ค่าน้ำมัน ค่าแก๊สธรรมชาติ และ ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ โดยเมื่อต้นทุนมีการเปลี่ยนแปลงจึงต้องมีการปรับค่า Ft ตาม

จาตุรงค์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ค่า Ft มีการนำมาใช้ราว 30 ปีแล้ว ซึ่งที่ผ่านมามีทั้งขึ้นและลงมาตลอด โดยเคยลงต่ำสุดเมื่อปี 2560 ในตอนนั้นติดลบถึง 37.29 สตางค์/หน่วย หรือเท่ากับว่า เมื่อใช้ไฟฟ้า 1 หน่วย จะได้รับเงินคืนราว 37 สตางค์/หน่วย และเคยขึ้นสูงสุดเมื่อปี 2554 โดยขึ้นไปอยู่ที่ 95.81 สตางค์/หน่วย ดังนั้น ค่า Ft ที่ปรับขึ้นมาในช่วงนี้จึงยังไม่ใช่อยู่ในจุดที่สูงที่สุด แต่ทั้งนี้ จาตุรงค์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ค่า Ft จะมีการปรับในทุก 4 เดือน และตัวเลขนี้เป็นการประกาศไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งขณะนั้นราคาน้ำมันก็มีความต่างกับในปัจจุบัน ดังนั้น หลังเดือนกันยายน ค่า Ft ก็อาจมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอีก

เมื่อสอบถามว่าทางภาครัฐจะมีวิธีการในการช่วยเหลือประชาชนอย่างไรบ้าง จาตุรงค์ เผยว่า แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การปรับปรุงพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า และ การนำเทคโนโลยีมาช่วย

ในส่วนของการปรับปรุงพฤติกรรมการใช้ไฟ จาตุรงค์ อธิบายว่า ในขั้นแรกให้สำรวจดูว่าอุปกรณ์ไฟฟ้าใดในบ้านที่กินไฟมากที่สุด ซึ่งหลัก ๆ ก็จะเป็นเครื่องปรับอากาศ โดยเมื่อเรารู้ว่ากินไฟมากที่สุดก็ต้องหมั่นดูแล อย่างแรกคือต้องล้างเครื่องปรับอากาศ เนื่องจากการล้างเครื่องปรับอากาศทุกครั้งจะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงประมาณ 5-7 เปอร์เซ็นต์ โดยการไฟฟ้าฯ แนะนำว่าให้ล้างทุก ๆ 6 เดือน ในส่วนของฟิลเตอร์ที่ดึงออกมาจากตัวหน้ากาก แนะนำให้ดึงออกมาล้างทุก ๆ 1 เดือน ไม่เช่นนั้น จะทำให้เครื่องปรับอากาศทำงานหนัก นอกจากนี้ การไฟฟ้าฯ ยังแนะนำให้ตั้งอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศที่ 26 องศาเซลเซียส เนื่องจากเป็นอุณหภูมิที่เหมาะกับร่างกาย แต่หากรู้สึกอึดอัดก็อาจเปิดพัดลมช่วยด้วยได้ ซึ่งการปรับอุณหภูมิเพิ่มขึ้นทุก ๆ 1 องศา จะช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์

ในส่วนของการนำเทคโนโลยีมาช่วย จาตุรงค์ กล่าวว่า โซลาร์เซลล์ เป็นสิ่งที่ช่วยลดค่าไฟได้พอสมควร แต่ว่าต้องแลกด้วยเงินลงทุน เพราะฉะนั้น หากใครมีความพร้อมก็อาจลองดูได้ และตอนนี้ ต้นทุนในการทำ Solar Rooftop หรือการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา ก็ถูกลงเรื่อย ๆ แล้ว ซึ่งการไฟฟ้าฯ ได้คำนวณมาแล้วว่าเมื่อติดตั้งไปแล้วโดยเฉลี่ยภายใน 6-7 ปีก็จะถึงจุดที่คุ้มทุน แต่ทั้งนี้ ก่อนตัดสินใจติดตั้งต้องสำรวจตัวเองก่อนว่าเหมาะที่จะติดตั้งหรือไม่ โดยสถานที่ที่จะติดตั้งซึ่งอาจจะเป็นบ้าน ต้องมีคนอยู่ในเวลากลางวัน และควรจะใช้ไฟฟ้าให้หมด เพราะหากจะเก็บไว้ใช้ตอนกลางคืนก็จะต้องมีแบตเตอรี่ซึ่งจะต้องใช้เงินลงทุนราว 50 เปอร์เซ็นต์ของแผงโซลาร์เซลล์ ดังนั้น จึงไม่แนะนำให้เก็บไว้ ควรใช้ให้หมด แต่หากใช้ไม่หมด แนะนำให้ขายให้กับการไฟฟ้าฯ จะดีกว่า

ติดตามรายการ แบไต๋ 7HD ไอทีและยานยนต์ ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.20-12.40 น. ทางช่อง 7HD กด 35

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark