แบไต๋7เอชดี (beartai7HD)

วิวัฒนาการของเทคโนโลยี ต้องผ่านอะไรมาบ้าง กว่าจะมาถึงยุค 5G ?

วิวัฒนาการของเทคโนโลยี ตั้งแต่ ยุค 1G 2G 3G 4G มาจน 5G มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง รวมถึงการใช้ประโยชน์ของอินเทอร์เน็ต ที่เข้ามีบทบาทในแวดวงอาชีพ จุดเปลี่ยนของแต่ละยุคมีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย

เริ่มยุค 1G เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างตั้งแต่ปี ค.ศ. 1983 เมื่อมีการเปิดตัวมือถือรุ่นแรกที่ใช้ 1G ได้มาอย่าง Motorola DynaTAC 8000X (โมโตโรล่า ไดนาแทค แปดพันเอ็กซ์) หรือที่คนไทยเรียกว่ารุ่น “กระดูกหมา” ในอดีตมือถือทำได้แค่ โทรออก - รับสาย เท่านั้น เรียกว่ายังเป็นยุคแอนะล็อกอยู่

และในยุค 2G ก็เริ่มต้นในปี ค.ศ. 1991 เราจะเริ่มเห็นวิวัฒนาการที่มากกว่าการโทรออก – รับสาย นั่นคือระบบ SMS (Short Message Service) ที่สามารถส่งข้อความสั้น ๆ ไม่เกิน 160 ตัวอักษรไปหามือถือเครื่องอื่นได้ นอกจากนี้ยังเปลี่ยนการสื่อสารจากระบบ Analog มาเป็น Digital ทำให้การโทรเสถียรขึ้น และเป็นส่วนตัวมากขึ้น

หลังช่วงปี 1998 เป็นต้นไป โลกเราพัฒนาขยับเข้าสู่ยุค 3G ถือเป็นจุดเปลี่ยนประวัติศาสตร์ของยุคของเครือข่ายมือถือ จากแค่โทรและส่งข้อความ มาเป็นยุคอินเทอร์เน็ตบนมือถือ เพราะความสามารถในการต่ออินเทอร์เน็ตได้ตลอดเวลา ด้วยความเร็วขั้นต่ำ 144Kbps (กิโลบิตต่อวินาที) ไปถึง 14 Mbps ทำให้การเล่นโซเชียล เข้าเว็บบูมมากในช่วงเวลานี้ และในช่วงนี้เองที่มือถือ BB (Blackberry) และเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก ส่วน iPhone รุ่นแรก เปิดตัวในปี 2007 ซึ่งเป็นปลายยุค 3G

พอมาในปี ค.ศ. 2008 เป็นต้นไป ถือว่าเป็นยุครุ่งเรืองของ 4G เนื่องจากความเร็วอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นจาก 3G แบบก้าวกระโดดเป็นสูงสุด 100Mbps (เมกะบิตต่อวินาที) ซึ่งเพียงพอกับการใช้ในชีวิตประจำวัน ที่สำคัญคือการไลฟ์ผ่านโซเซียลก็กำเนิดในยุค 4G เพราะอินเทอร์เน็ตเร็วพอแล้ว

ในจุดนี้ทำให้การส่งไฟล์ในไลน์ เปิดเว็บ เล่นเฟซ ใช้เวลาโหลดแค่อึดใจเดียว คนไทยเลยเปิดดูวิดีโอในยูทูบกันเป็นว่าเล่นตั้งแต่ยุค 4G เพราะไม่ต้องรอโหลดอีกต่อไป โทรคุยแบบเปิดกล้อง ก็ทำได้ลื่นไหล รวมถึงการเล่นเกมมือถือ โดยรวมถือว่าความเร็วเน็ตของเครือข่ายมือถือสูงขึ้น ก็ทำให้มือถือใช้งานได้หลากหลายขึ้น ถือเป็นเทคโนโลยีที่อยู่ในมือถือยุคปัจจุบันด้วยนะครับ ตั้งแต่มือถือราคาหลักพันจนไปถึงตัวท็อปหลักหมื่น

สุดท้ายเป็นยุค 5G เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 2018 มาถึงปัจจุบัน ต้องยอมรับว่า 4G นั้นเร็วแล้ว แต่ 5G นั้นเร็วกว่ามาก เพราะมีความเร็วสูงสุดที่ 20Gbps (กิกะบิตต่อวินาที) แถมยังตอบสนองได้รวดเร็ว เรียกว่าเกิดมาเพื่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมจะได้รับประโยชน์จาก 5G เต็ม ๆ 

โดยยกตัวอย่าง วงการแพทย์  5G จะทำให้การส่งข้อมูลขนาดใหญ่ ๆ ทำได้รวดเร็ว จุดนี้จะทำให้วิเคราะห์วินิจฉัยโรคแบบออนไลน์ได้ทันที รวมถึงจะสามารถผ่าตัดจากทางไกลผ่านหุ่นยนต์โดยที่หมอไม่ต้องเดินทางไป

แต่ถ้าเป็นภาคการขนส่ง 5G เราอาจได้เห็นว่าในอนาคตอาจมีรถยนต์ไร้คนขับตามท้องถนนก็เป็นได้ครับ นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็ก ๆ ที่ภาคธุรกิจได้จาก 5G ยังมีอีกหลากหลายสิ่งที่จะสำเร็จเป็นจริงได้ในยุคนี้

ติดตามรายการ แบไต๋ 7HD ไอทีและยานยนต์ ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.20-12.40 น. ทางช่อง 7HD กด 35

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark