แบไต๋7เอชดี (beartai7HD)

สุดปัง! หุ่นยนต์ฟื้นฟูผู้ป่วย อัมพฤกษ์ อัมพาต ฝีมือคนไทย

ชวยคุย กับ “ศ.ดร. วิบูลย์” ถึงโครงการ “หุ่นยนต์ฟื้นฟูผู้ป่วย อัมพฤกษ์ อัมพาต” ที่ผ่านมาแล้ว 3 ปี ได้ช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นฟูดีขึ้นได้อย่างมากมาย

มาถึงช่วง “Tech Talk” ในรายการ “แบไต๋ 7HD ไอทีและยานยนต์” พบกับ “ศ.ดร. วิบูลย์ แสงวีระพันธุ์ศิริ” หัวหน้าศูนย์เทคโนโลยีหุ่นยนต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในโครงการหุ่นยนต์ฟื้นฟูผู้ป่วย อัมพฤกษ์ อัมพาต ฝีมือคนไทย โดยข้อมูลจาก องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ระบุว่า ทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองราว 15 ล้านคน/ปี แต่ในวันนี้ เรามีหุ่นยนต์ฝีมือคนไทย ที่สามารถจะแก้ไขปัญหานี้ ด้วยการพาผู้ป่วยทำกายภาพบำบัด ให้สามารถฟื้นฟูได้โดยง่าย

ศ.ดร. วิบูลย์ เปิดเผยว่า โครงการนี้ได้ร่วมมือกับคุณหมอจาก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเป็นผู้ให้โจทย์มาทำ เนื่องจากขณะนี้ มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนนักกายภาพบำบัด กอปรกับมีข้อมูลจากงานวิจัยมากพอสมควร ระบุว่า การใช้หุ่นยนต์ในการพื้นฟูผู้ป่วย สามารถทำจำนวนรอบได้มากกว่า และทำให้การฟื้นฟูเร็วขึ้นจริง แต่นักกายภาพบำบัดก็ยังมีบทบาทอยู่ในการช่วยควบคุม อีกทั้งยังได้รับโจทย์มาว่า พยายามทำให้หุ่นยนต์เคลื่อนย้ายง่าย จึงได้เริ่มต้นจากส่วนแขน ส่วนข้อมือ และส่วนขา ซึ่งเป็นอวัยวะในส่วนที่ต้องการฟื้นฟู โดยหุ่นยนต์สามารถวิเคราะห์ได้ว่า การเคลื่อนที่ของอวัยวะเป็นอย่างไรบ้าง

ศ.ดร. วิบูลย์ กล่าวว่าขณะนี้ มีหุ่นยนต์อยู่ราว 6-7 แบบ แต่ละแบบการใช้ในการฟื้นฟูแตกต่างกัน โดยแพทย์จะเป็นผู้วินิฉัยว่าจะให้ใช้แบบใด และในขณะเดียวกัน ผู้ป่วยก็ควรต้องมาฝึกกับเครื่องก่อนว่าชอบหรือไม่ ซึ่งคุณหมอและนักกายภาพบำบัดก็จะเป็นผู้ชี้แนะแนวทางแต่แรกและคอยให้กำลังใจ

ในส่วนของงบประมาณในการสร้าง ศ.ดร. วิบูลย์ ชี้แจงว่า การลงทุนครั้งแรกค่อนข้างสูง แต่เมื่อทำไปสักพักหนึ่งแล้วต้นทุนก็จะถูกลง

ศ.ดร. วิบูลย์ อธิบายถึงกลไกของหุ่นยนต์ว่า จะมีการตั้งโปรแกรมท่าทางในการเคลื่อนไหวไว้ ซึ่งจากกราฟ จะบอกได้ว่า การเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น หุ่นยนต์หรือผู้ป่วยเป็นผู้กระทำ โดยระบบควบคุมนี้เป็นการผสมผสานกันระหว่างแรงและตำแหน่ง สมมติ ถ้าผู้ป่วยเคลื่อนที่ไม่ได้หุ่นยนต์จะช่วยออกแรง แต่ถ้าผู้ป่วยเคลื่อนที่ได้หุ่นยนต์จะไม่ทำอะไร

สำหรับการฝึก ศ.ดร. วิบูลย์ กล่าวว่า จะฝึกวันละ 2 ท่า ท่าละ 15 นาที โดยแต่ละคนจะฝึกท่าไม่เหมือนกันตามแต่ปัญหาและลักษณะอาการ นอกจากนี้ เมื่อผู้ป่วยฝึกไปแล้ว อาจเกิดอาการเบื่อ ต้องการการผ่อนคลาย ก็จะมีเกมให้เล่น โดยเชื่อมต่อกับเกมบนอินเทอร์เน็ตและให้ผู้ป่วยขยับท่าทางต่าง ๆ กับหุ่นยนต์แทนการใช้เมาส์ ซึ่งก็ทำให้ผู้ป่วยฟื้นฟูได้เร็วขึ้น

ศ.ดร. วิบูลย์ เปิดเผยว่า หุ่นยนต์ที่นำมาแสดงในรายการนี้เป็นเวอร์ชันที่ 4 โดย 3 เวอร์ชันก่อนหน้านี้ ผ่านการใช้จริงมาแล้วรวมกว่า 3 ปี ได้นำไปติดตั้งแล้วที่โรงพยาบาล 12 แห่ง และมีการให้เช่าเพื่อไปใช้ที่บ้านด้วย โดยเป้าหมายหลักยังอยู่ที่การใช้ภายในประเทศ แต่ในอนาคตก็มีการวางแผนที่จะขยายไปสู่ต่างประเทศเช่นกัน

ศ.ดร. วิบูลย์ ได้ทิ้งท้ายว่า การดำเนินการในตอนนี้ถือว่าทิศทางค่อนข้างดี แต่ปัญหาที่สำคัญที่สุดคือ การขาดการได้รับรองมาตรฐาน และการได้รับรองความมั่นใจในการใช้งาน แต่ก็มองว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายและก็พยายามทำให้เป็นจุดแข็งให้ได้

ติดตามรายการ แบไต๋ 7HD ไอทีและยานยนต์ ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.20-12.40 น. ทางช่อง 7HD กด 35

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark