แบไต๋7เอชดี (beartai7HD)

คอลเซ็นเตอร์กวนใจ ทำอย่างไรถึงจะรอดพ้น !

ปัจจุบันหลายคนคงพบเจอพวกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โทรมากวนใจอยู่เรื่อย ทำอย่างไงก็ไม่หมดไปซักที แบไต๋มีวิธีการหลบเลี่ยงพวกแก๊งคอลเซ็นเตอร์มาฝาก

ก่อนที่เราจะไปดูกันว่าเราจะหลบเลี่ยงพวกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้ เราต้องรู้ก่อนว่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์เป็นอย่างไรไง ? ถ้าเกิดว่ามีเบอร์ที่เราไม่รู้จักโทรเข้ามา และพอเรารับออกมาเป็นเสียงอัตโนมัติ เช่น “ยินดีด้วยค่ะ คุณชนะรางวัล กด 1 เลย !” หรือข้อความทำนองนี้ พร้อมให้เรากดเลข ก็ต้องสงสัยเอาไว้ก่อนเลยว่านี่แหละ เราเจอแก๊งคอลเซ็นเตอร์เข้าให้แล้ว

แต่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ไม่ได้มาแต่แบบอัตโนมัติ มาแบบคนจริง ๆ โทรมาเลยก็มี โดยพวกนี้เขาจะใช้วิธี โทรมาหลอกคืนเงินภาษีผ่านตู้ ATM โดยอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่สรรพากรติดต่อเหยื่อเพื่อแจ้งข้อมูลการขอคืนภาษี และให้เหยื่อยืนยันสิทธิ์การขอคืนภาษีผ่านตู้ ATM แต่ความจริงแล้วเป็นการโอนเงินไปยังหมายเลขบัญชีของมิจฉาชีพแทน

หรือบอกเหยื่อว่ายังไม่ได้ชำระหนี้บัตรเครดิต แล้วหลอกให้ไปตู้ ATM เพื่อระงับบัญชี แต่จริง ๆ แล้วเป็นการหลอกให้โอนเงินให้มิจฉาชีพแทน

หรือหลอกว่าบัญชีของเหยื่อพัวพันกับคดียาเสพติด หรือคดีฟอกเงิน แล้วโอนสายเหยื่อให้กับตำรวจปลอม เพื่อหลอกว่าจะช่วยตรวจสอบและให้เหยื่อโอนเงินมาที่มิจฉาชีพ เป็นต้น

จะสังเกตได้ชัดเจน ว่าพวกมิจฉาชีพมักจะมาในรูปแบบของการหลอกให้โอนเงินกันแทบทั้งนั้นเลย มิจฉาชีพพวกนี้เขาชอบใช้การทำให้เหยื่อเกิดความตื่นตระหนก หรือเข้าใจผิดว่าได้รับผลประโยชน์บางอย่าง และมักจะใช้การโทรมาก่อนเป็นอย่างแรก แต่หลาย ๆ ครั้งก็มักจะลามไปจนถึงการแอดไลน์ของมิจฉาชีพได้เช่นกัน

แล้วเราจะป้องกันตัวเองจากพวกแก๊งคอลเซ็นเตอร์นี้ได้อย่างไรกัน ?
ก่อนที่เราจะรับสายใด ๆ ควรตั้งสติ ตรวจสอบเบอร์โทรศัพท์ให้แน่ชัดก่อนกดรับสาย ถ้าเบอร์ดูแปลกประหลาดไป มี + ขึ้นมา ให้ระวังไว้ก่อนเลยว่าอาจจะเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้

คิดอยู่เสมอว่า สถาบันการเงิน และภาคราชการไม่มีนโยบายสอบถามข้อมูลส่วนบุคคลทางโทรศัพท์ เพราะงั้นถ้าเริ่มถามข้อมูลเยอะ แปลว่าแปลก ๆ แล้ว

ถ้าปลายสายบอกข้อมูลของเราถูกต้อง บอกเลขบัตรประชาชนได้ อย่าเพิ่งเชื่อ ยังไงก็ให้ติดต่อหน่วยงานที่ถูกอ้างถึงอีกครั้งก่อน ว่าข้อมูลที่ได้รับนั้นเป็นความจริง

แต่ถ้าปลายสายเล่าเหตุการณ์อะไรมาแล้ว ให้คิดดูก่อนว่าเราเคยเกี่ยวกันกับเรื่องพวกนี้จริง ๆ หรือเปล่า ถ้าไม่ ก็วางสายไปเลย

ไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวใด ๆ และรีบวางสายให้เร็วที่สุดและหลังวางสายให้ตรวจสอบข้อมูลกับหน่วยงานหรือสถาบันที่ถูกแอบอ้างทันที
แต่ถ้าตกเป็นเหยื่อ ให้ติดต่อไปยังสถาบันการเงินเพื่อระงับหรือขอความช่วยเหลือทันที

ทั้งหมดนี้ถือเป็นวิธีการป้องกันคร่าว ๆ ที่เริ่มได้เลยโดยไม่ต้องทำอะไรเพิ่ม แต่ถ้าอยากระวังให้ได้ตั้งแต่เริ่ม ผมขอแนะนำให้ดาวน์โหลดแอปพลิชัน เพื่อเฝ้าระวังพวกคอลเซ็นเตอร์โดยเฉพาะ เช่น Whoscall, Hiya, Caller ID, Callapp หรือแอปฯ กันกวน ของทางกสทช. ไทยเราก็ได้เช่นกัน

ติดตาม รายการ “แบไต๋ 7HD ไอทีและยานยนต์” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.20-12.40 น. ทางช่อง 7HD กด 35

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark