เงินทองของจริง

แนะนำ ! วิธีการออม เก็บเงินอย่างไร ให้ได้ผล

เมื่อพูดถึงวัยทำงานแล้ว เรามักได้ยินว่า "ทำงาน เพื่อ เก็บเงิน" แต่การเก็บเงินให้อยู่ นี่แหละปัญหาใหญ่ของใครหลาย ๆ คน รู้ทั้งรู้ว่าต้องเก็บ แต่เก็บเท่าไรก็เก็บไม่อยู่ คำถามคือ เราควรเริ่มต้นเก็บเงินอย่างไรดี ?

วิธีการเก็บเงินที่พิสูจน์มาแล้วว่าได้ผลคือ "การหักออมก่อนใช้" ทุกวันนี้เรามักใช้เงินไปก่อน แล้วค่อยมาออมทีหลัง จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ไม่พอเก็บ เหตุผลยอดฮิตของการใช้เงินก่อนเก็บเพราะเราไม่รู้ว่าในระหว่างเดือนเราจะต้องใช้จ่ายอะไรบ้างในแต่ละวัน จนสุดท้ายแล้ว สิ้นเดือนก็ไม่ได้ออมเสียที จึงมีการวิจัยขึ้นมาว่า "ให้ออมก่อนใช้" และทำการออมนี้ให้เป็นอัตโนมัติที่สุด

การออมที่เป็นอัตโนมัติที่สุด หมายถึง "อย่าให้เราได้เห็นเงินก้อนนี้เลย" รูปแบบการออมเงินที่ทำให้เราออมเงินได้จริง คือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เราสามารถใช้หลักการเดียวกัน เป็นไอเดียในการออมได้ ซึ่งปัจจุบันมีแอปฯ ต่าง ๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวก เช่น การเปิดบัญชีออนไลน์ผ่านแอปฯ ธนาคาร เมื่อเงินเดือนออก ให้หักอัตโนมัติไปเลย 10% จะเป็นตัวช่วยในการออมได้จริง ๆ

ปัญหาของการออม จริง ๆ แล้วไม่ใช่เรื่องเทคนิคหรือวิธีการ แต่เป็นเรื่อง "ขนาดของเงิน และความสม่ำเสมอ" บางคนทำงานมาหลายปี แต่ไม่มีเงินเก็บเลย เมื่อตัดสินใจที่จะออมแล้ว มักจะออมครั้งละก้อนใหญ่ ๆ เป็นวิธีที่ไม่เชิงผิด และไม่เชิงถูก ซึ่งจริง ๆ แล้ว วิธีที่ถูกต้องตามหลักวิชาการคือออมเพียง 10% ของรายได้ แต่ในความเป็นจริง คือต้องประเมินตัวเองเสียก่อน และออมแบบที่ "ดีต่อใจและตัวไหว" อย่าออมเกินกำลัง จนทำให้ตัวเองลำบาก และทำให้ "สม่ำเสมอ"

เรื่องที่สองที่ต้องระวัง... "จะสิ้นเดือน แล้วจะสิ้นใจ" ขอถอนหน่อย ไม่ได้ ! วิธีแก้คือเราต้อง "กำหนดงบ" คนส่วนใหญ่มักจะจดบัญชีแบบ "จ่ายก่อนจด" แต่วิธีที่ถูกคือ "จดก่อนจ่าย" เราต้องวางแผนตั้งแต่เงินเดือนยังไม่ออก เพื่อแบ่งสัดส่วนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้วค่อยจดบันทึกว่าเราใช้ตามแผนหรือเปล่า หากเรามีการจดบันทึกควบคู่ไปกับการหักออมแบบอัตโนมัติแล้ว จะทำให้เราเก็บเงินได้อยู่หมัดแน่ ๆ ไม่ต้องคอยแคะกระปุก ทำให้แผนการออมเสียหายอีก

ออมเงินได้แล้ว สามารถต่อยอด "เงินต่อเงิน" อย่างไรได้บ้าง ? สำหรับคนทำงานแล้ว มีรูปแบบการต่อยอดที่เยอะพอสมควร ที่แนะนำคือการลงทุนใกล้ตัวก่อน เช่น สำหรับข้าราชการ คือการหักออมในกองทุนบำเหน็จบำนาญ 3-15% สามารถปรับเพิ่มหรือลดได้ตามเหมาะสม เงินส่วนนี้จะใช้เป็นการเก็บเงินเพื่อการเกษียณระยะยาวได้ ซึ่งจะมีเงินนายจ้างคือรัฐบาลมาสมทบให้ด้วย

ส่วนคนทำงานทั่วไป กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็เป็นทางเลือกที่ดี เพราะออมขั้นต่ำ 2-15% โดยสามารถปรับตัวเลขได้ตามเหมาะสม และยังได้รับเงินนายจ้างสมทบให้อีกตามเงื่อนไขด้วย

ต่อมาคือ ความสามารถในการรับความเสี่ยง และความรู้ของตัวเราเอง หากคิดว่าความรู้ยังไม่เยอะ รับความเสี่ยงไม่ค่อยไหว ก็อาจเลือกสินทรัพย์ที่เรียกว่า "สินทรัพย์มั่นคง" เช่น เงินฝากดอกเบี้ยสูง สลากออมทรัพย์ หรือกองทุนรวม เช่น กองทุนรวมตลาดเงิน หรือ กองทุนรวมตราสารหนี้ เพราะมีความผันผวนน้อย ความเสี่ยงก็น้อยเช่นกัน อีกหนึ่งการลงทุนคือ การลงทุนทองคำ ถึงผลตอบแทนจะไม่สูงมาก แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิด ถ้าหากเรายังรู้ไม่เยอะพอ และไม่อยากเสี่ยง

สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงขึ้นมาหน่อยคือ "หุ้น" ซึ่งต้องอาศัยความรู้ในการลงทุน ยิ่งหากลงทุนหุ้นด้วยตัวเอง จะต้องมีความรู้มาก

สำหรับใครที่มีเงินออมแล้ว และอยากเริ่มต้นลงทุนทำธุรกิจนั้นสามารถทำได้ โดยดูความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก และหาสินค้าหรือบริการที่เหมาะสม และสิ่งที่ควรทำคือ "การกันเงิน" แยกออกมาให้ชัดเจน อย่านำเงินทั้งหมดที่มีไปใส่ที่เดียว และอาจกำหนดขนาดของเงินด้วยว่าเงินก้อนนี้สามารถนำไปใช้ดำเนินธุรกิจได้ และต่อให้สูญเงินก้อนนี้ทั้งหมดไป ก็ไม่กระทบกับเงินทั้งก้อนของเรา

ติดตาม รายการ “เงินทองของจริง” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.05-9.15 น. ทางช่อง 7HD กด 35

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark