เงินทองของจริง

ออมเงินสไตล์นักศึกษา เรียนอยู่ก็มีเงินเก็บ !

เมื่อพูดถึงวัย "นักศึกษา" เป็นวัยที่มี "ความอยาก" อยากกินอาหารอร่อย อยากซื้อเสื้อผ้าสวย ๆ อยากไปเที่ยว... และยังอยากเก็บเงิน แต่เก็บเงินมันช่างดูยากจริง ๆ !

เชื่อว่านักศึกษาส่วนใหญ่ น่าจะได้เงินค่าขนมแบบรายเดือน ได้เป็นเงินก้อน และให้นำไปบริหารจัดการเอง ซึ่งโค้ชเห็นด้วยในส่วนนี้ เพราะเป็นวัยที่เข้าใกล้วัยผู้ใหญ่แล้ว จะต้องดูแลการเงินเองได้ ซึ่งวิธีการในการเก็บออมก็มีหลากหลาย

อันดับแรกเลยอาจจะต้องฝึกทำคล้าย ๆ พี่ ๆ ที่เขาทำงานแล้ว คือ เมื่อได้เงินค่าขนมเป็นก้อนมาแล้วก็ให้หักออม เริ่มต้นออมในแบบที่ "ดีต่อใจ" คือเท่าไหร่ก็ได้ที่เรารู้สึกว่าได้เก็บ และทำเรื่องนี้ให้สม่ำเสมอ พยายามหักก่อนใช้

เรื่องที่สอง คือ สามารถสร้างการเก็บออมจากการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยได้ เช่น มื้อบุฟเฟ่ต์ 690 บาท ก็ให้กินไปเลย แต่ช่วยเก็บ 90 บาท (เศษ) ไว้ด้วย หรือบางคนอาจจะเก็บไว้ 10% จากค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยก็ได้ คิดง่าย ๆ ว่า ตอนอยู่มหาวิทยาลัยกินข้าวแกง 30 บาท ก็อิ่มแล้ว ในเมื่อเราอยากกินบุฟเฟ่ต์ 690 บาท ก็ต้องแลกด้วยการเก็บหน่อย กรณีนี้เขาเรียกว่าเป็นการ "เก็บภาษีตัวเอง" บางคนก็อาจจะเก็บเงินในส่วนที่เป็นเศษเหรียญ หรือเงินทอนต่าง ๆ ก็เป็นรูปแบบของการเก็บออมที่ทำได้ เรียกได้ว่าไม่มีข้อจำกัดในการออม แต่ขอให้ทำวิธีการที่เหมาะสมกับสไตล์การเก็บเงินของเรา ถือว่าใช้ได้ทั้งหมด

นักศึกษาบางคน มอง "การเก็บเงิน" ว่าเป็นเรื่องไกลตัว ได้เงินมาก็ใช้จ่ายไป พอกลางเดือนเริ่มฝืดเคือง ไปหยิบยืมมา ทำให้เป็นหนี้สิน ต้องบอกว่าจริง ๆ แล้ว ด้วยวัยที่อาจจะมองเรื่องการออมน้อยเกินไป ส่วนใหญ่จะมองในเรื่องการใช้จ่าย เพราะมีสังคม มีกลุ่มเพื่อน เช่น เพื่อนไปปาร์ตีกัน เราต้องเป็นส่วนหนึ่งในนั้นด้วย ส่วนนี้เราต้องรู้จักหักห้ามใจ บางทีเราอาจจ่ายไม่ไหว เราก็ไม่ต้องตามเขาก็ได้ เรื่องการใช้จ่ายส่วนนี้จะเป็นตัวกำหนดสัดส่วนของเงินออมโดยอัตโนมัติ หากเราใช้จ่ายโดยที่ไม่ได้คิด เราก็อาจใช้จ่ายสิ้นเปลืองได้ เช่น ใน 1 เดือน เราอาจจะไปกินมื้อหรู่เพียงเดือนละ 1 มื้อก็ได้ อย่าให้เกินกำลังไป เพราะจะทำให้ไม่มีเงินเหลือไว้เก็บออมเลย

"วิธีการออมเงิน" ออมอย่างไร "สไตล์นักศึกษา" จริง ๆ แล้ว สามารถออมไปด้วย ลงทุนไปด้วย ควบคู่กันได้ อยากเริ่มต้นชวนคุยในเรื่องของการใช้จ่ายซึ่งให้เกิดประโยชน์ก่อน เช่น ใช้จ่ายอย่างไร ไม่ให้เงินออมหมด รูปแบบหนึ่ง คือ "การใช้จ่ายเพื่อประสบการณ์" คือ เมื่อใช้จ่ายซื้อสินค้าไปแล้ว บางทีก็อาจจะเบื่อของที่ซื้อมา ไม่ได้ชอบของนั้นแล้ว แต่การใช้จ่ายเพื่อประสบการณ์ จะเป็นการเติมเต็ม เก็บภาพประสบการณ์ เก็บความรู้สึกดี ๆ ไว้อยู่กับตัว เป็นของที่ไม่หมด อยู่กับเราไปเรื่อย ๆ

หรือบางทีอาจจะมองการออมในด้าน "การใช้จ่ายเพื่อความรู้" เติมเต็มให้กับตัวเอง เมื่อเรามีทักษะเพิ่มขึ้น ก็สามารถนำทักษะนั้นกลับไปหารายได้เพิ่มได้ เช่น การเรียนภาษา การเรียนกราฟิก หรือการเรียนต่าง ๆ ที่จะเป็นประโยชน์กับเราในภายภาคหน้า การใช้จ่ายเหล่านี้ เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยได้เช่นกัน

อีกรูปแบบหนึ่ง คือ การนำของที่ใช้ไปแล้ว ไปขายเป็น "ของมือสอง" เพื่อหารายได้ ทำให้เงินที่เคยจ่ายไปนั้นหวนคืนกลับมา ดังนั้นเป็นการหมุนเวียนเงิน และเห็นว่าน้อง ๆ นักศึกษาหลายท่านก็สามาถทำได้ในลักษณะนี้

ช่องทางสุดท้ายคือ "การลงทุน" อย่ามองว่าเรายังเรียนอยู่ ยังลงทุนไม่ได้ หากเราอายุ 20 ปีขึ้นไปแล้ว สินทรัพย์ทุกประเภท เราสามารถลงทุนได้ทั้งหมด เช่น "กองทุนรวม" เราสามารถเปิดบัญชีลงทุนด้วยตัวเองได้ หรือ "หุ้น" ก็สามารถเปิดบัญชีได้ด้วยตัวเองเช่นกัน

มีหลายคนที่ศึกษาเรื่องการลงทุนมาเป็นอย่างดี แต่เมื่อลงทุนไปแล้ว 1-2 ปี กลับขาดทุน ! จึงทำให้ล้มเลิกไป ส่วนนี้จะเป็นเรื่องของประสบการณ์แต่ละคน แต่หากเราเริ่มลงทุนตั้งแต่ยังมีเงินน้อย ๆ จะทำให้เราเริ่มเห็นความเสี่ยง โอกาส และความเสียหายต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น ด้วยเงินเพียงน้อย ๆ อาจทำให้เราเติบโตไม่มากนัก แต่เราอาจจะได้ผ่านภาพอะไรบางอย่าง ที่เป็นประโยชน์กับการลงทุนในอนาคตของเราได้

ติดตาม รายการ “เงินทองของจริง” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.05-9.15 น. ทางช่อง 7HD กด 35

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark