เงินทองของจริง

ผ่อนไม่ไหว! แก้ปัญหา ปรับโครงสร้างหนี้ อย่างไรดี ?

หลายคนที่กำลังประสบปัญหา เจอ "วิกฤตทางการเงิน" เป็นหนี้แล้วไปต่อไม่ไหวจริง ๆ จะมีวิธีการ "ปรับโครงสร้างหนี้" อย่างไรดี ?

การปรับโครงสร้างหนี้ คือ การเปลี่ยนรูปแบบการผ่อนชำระ ทำให้เราผ่อนชำระได้ง่ายขึ้น และเบาลงด้วย ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ

กลุ่มที่ 1 คือ กลุ่มที่ "สภาพคล่องยังพอไปได้" หมายความว่าเรายังสามารถผ่อนหนี้ได้ไหว เพียงแต่เริ่มตึง ๆ นิดหน่อย โดยมีทางออกในการแก้ปัญหาอยู่ 3 วิธีด้วยกัน

ทางออกที่ 1 คือ การเจรจาขอปรับลดอัตราดอกเบี้ยจากสถาบันการเงินโดยตรง ซึ่งจริง ๆ แล้ว เราสามารถทำได้ตลอดเวลา เพียงแต่คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเมื่อทำสัญญาไปแล้ว จะต้องยึดหลักตามที่ระบุไว้ในสัญญาไปตลอด ซึ่งหากมีการเจรจาสำเร็จ ธนาคารอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้เป็นบางช่วง เพื่อให้เราสามารถผ่อนชำระได้คล่องตัวมากขึ้น

ทางออกที่ 2 คือ การรีไฟแนนซ์ หรือการขอสินเชื่อก้อนใหม่ ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าสินเชื่อเดิม หากเป็นการรีไฟแนนซ์ที่ได้ผลลัพธ์ทดี อัตราดอกเบี้ยใหม่จะต้องลดลงจากอัตราดอกเบี้ยเดิมครึ่งหนึ่งโดยประมาณ จะทำให้ยอดผ่อนของสินเชื่อใหม่เบาลง และทำให้เราผ่านพ้นปัญหาในช่วงที่รู้สึกเหนื่อยหรือเดือดร้อนไปได้ ซึ่งทั้ง 2 ทางออกที่กล่าวไป จะเป็นแนวทางสำหรับคนที่มีประวัติการผ่อนชำระที่ดี จะทำให้การเจรจาเป็นไปได้ง่ายขึ้น

ทางออกที่ 3 คือ การขอพักชำระหนี้ ซึ่งต้องบอกว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะ ธนาคารมีความคาดหวังอยากให้เราผ่อนชำระคืน จากการปล่อยสินเชื่อให้กับเรา ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้ว และสิ่งที่หลายคนไม่ทราบเกี่ยวกับการพักชำระหนี้ คือ เป็นเพียงการพักชำระการผ่อนเท่านั้น แต่ในส่วนของดอกเบี้ยยังคงวิ่งอยู่ตลอดเวลา และหลาย ๆ ครั้งจะพบว่ามีผู้ที่พักชำระหนี้ไปแล้ว เช่น เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 3 เดือน ก็จะมีภาระที่ต้องผ่อนชำระในส่วนของดอกเบี้ยที่ผ่านมาแล้วและยังไม่ได้จ่ายด้วย

คำถามที่น่าสนใจ หลายคนสงสัยว่า ระหว่างการเจรจาขอปรับลดอัตราดอกเบี้ย กับการรีไฟแนนซ์ แบบไหนจะคุ้มกว่ากัน ? ซึ่งต้องบอกก่อนเลยว่า ธนาคารแต่ละแห่ง มีต้นทุนในการปล่อยสินเชื่อที่ต่างกัน เป็นไปได้ว่าหากเราเจรจากับธนาคารเดิมแล้ว เราได้ส่วนลดมาประมาณหนึ่ง แต่ยังไม่ตอบโจทย์ ทั้งนี้ทั้งนั้น เราสามารถไปขอรีไฟแนนซ์กับอีกธนาคารหนึ่ง และนำตัวเลขมาเปรียบเทียบ เพื่อหาสิ่งที่เป็นประโยชน์ที่สุดได้ แต่จะมีความต่างกันในเรื่องของความยุ่งยาก เพราะหากเป็นการเจรจากับธนาคารเดิม เมื่อคุยจบ สามารถที่จะปรับลดได้เลย แต่หากเป็นการรีไฟแนนซ์ สิ่งที่เราต้องรู้ คือ บางสินทรัพย์อาจมีต้นทุน เช่น บ้าน จะมีค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าประเมิน ค่าจดจำนอง เป็นต้น หรือหากเป็นการรวบหนี้บัตรเครดิตจากหลายที่มาไว้ที่เดียว ก็อาจจะไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ดังนั้น เราต้องศึกษาหาข้อมูลให้ดี เพื่อเปรียบเทียบ และประเมินในเรื่องความคุ้มค่าที่ได้มากที่สุด

ในส่วนของกลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มที่ "ไม่สามารถชำระหนี้ได้เลย" ทางออกที่ 1 คือ การขอพักชำระหนี้ แต่เป็นไปได้ยาก เพราะเป็นทางออกที่หลายธนาคารไม่ค่อยนิยมสักเท่าไร

ทางออกที่ 2 คือ ขอจ่ายเฉพาะดอกเบี้ย ซึ่งเป็นวิธีการที่รับประกันได้ว่าธนาคารอนุมัติแน่นอน เพราะจำนวนเงินต้นยังคงเดิม ธนาคารไม่ได้เสียหายอะไร และการที่เรายังจ่ายดอกเบี้ยในทุกเดือน ทำให้ธนาคารมีเงินในการบริหารจัดการบัญชีของเราได้

ทางออกที่ 3 ที่แนะนำ คือ การเจรจาแบบ ขั้นบันได หรือ Step Up เป็นมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งมีหลักการ คือ กดยอดการผ่อนชำระให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะไหว แล้วค่อยปรับขึ้นเป็นขั้นบันได เช่น เคยผ่อนเดือนละ 10,000 บาท ปรับลดเหลือเพียงเดือนละ 3,500-4,000 บาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน หลังจากนั้นค่อยปรับขึ้นเป็น 6,000-7,000 บาท จากนั้นเมื่อครบ 1 ปีแล้วจึงปรับขึ้นมาเป็นปกติ

สุดท้ายแล้วอยากแนะนำว่า เมื่อใดก็ตามที่เราจะขอเจรจากับธนาคาร อยากให้คำนวณรายรับ-รายจ่าย เปรียบเทียบวิธีการแต่ละวิธีดู ว่าหลังจากขอปรับจากธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้ "ทุกธนาคาร" แล้ว ด้วยวิธีต่าง ๆ ทำให้เรามีเงินคงเหลือที่เป็นบวกหรือไม่ ดีกว่าขอ ๆ ลดไปก่อน แต่สุดท้ายแล้วตัวเลขคงเหลือนั้นกลับช่วยอะไรเราไม่ได้เลย

พบกับ "โคชหนุ่ม" และ "กาย สวิตต์" ได้ใน สนามข่าว 7 สี ช่วง "เงินทองของจริง" ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.05-9.15 น. ทางช่อง 7HD กด 35

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark