เงินทองของจริง

มาตรการรัฐฯ ช่วยหนี้ กยศ. ดีอย่างไร - ไม่จ่าย โดนอะไร

ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา หลายครัวเรือนเจอวิกฤตทางการเงินอย่างหนัก บางคนถึงขั้นตกงาน ขาดรายได้ เงินไม่พอใช้ และกระทบกับภาระ หนี้ และครั้งนี้จะพูดถึง "กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา" หรือ กยศ. ซึ่งมีมาตรการรัฐฯ มาช่วยลดหย่อนภาระหนี้ในส่วนนี้ด้วย

เรียกได้ว่าเป็น "ของขวัญปีใหม่" จากรัฐบาล สำหรับผู้ใช้สินเชื่อ กยศ. ซึ่งรัฐฯ ได้ขยายเวลาออกไปถึง 30 มิถุนายน 2566 โดยมีมาตรการต่าง ๆ ที่เป็นตัวช่วยดี ๆ ดังนี้

1. ลดดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจากเดิม 1% ต่อปี เป็น 0.01% ต่อปี

2. ลดเงินต้น 5% กรณีชำระปิดบัญชี สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ไม่เคยเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้

3. ลดเบี้ยปรับ 100% สำหรับผู้กู้ยืมเงินทุกกลุ่มที่ชำระหนี้ปิดบัญชี โดยสำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ถูกดำเนินคดี ต้องลงทะเบียนขอรับสิทธิที่ www.studentloan.or.th เพื่อนัดหมายวันที่ประสงค์ชำระหนี้ ซึ่งต้องชำระค่าทนายความ และค่าฤชาธรรมเนียมให้เสร็จสิ้นก่อนปิดบัญชี

4. ลดเบี้ยปรับ 80%  กรณีชำระหนี้ค้างทั้งหมดให้มีสถานะปกติ

5. ลดอัตราการคิดเบี้ยปรับเหลือ 0.5% ต่อปี

ทั้ง 5 มาตรการข้างต้นถือว่าเป็นตัวช่วยที่ดีสำหรับลูกหนี้ กยศ. แต่หากบางคนผิดนัดชำระหนี้ จะมีบทลงโทษในลักษณะเป็นขั้นบันได 3 ขั้น ดังนี้

ขั้นที่ 1 "ดอกเบี้ยปรับ" หากไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดทุกวันที่ 5 กรกฎาคม ของทุกปี ยกตัวอย่างกรณีค้างชำระไม่เกิน 1 ปี ค่าปรับเฉลี่ยจะอยู่ที่ 12% ต่อปี และกรณีค้างชำระเกิน 1 ปี ค่าปรับเฉลี่ยจะสูงถึง 18% ต่อปี

ขั้นที่ 2 หากผิดนัดชำระ ปล่อยเวลาผ่านไปแล้วยังไม่จ่าย จะทำให้ถูก "ฟ้องร้องดำเนินคดี" โดยมีเงื่อนไขการพิจารณาจากระยะเวลา 3 กรณี คือ

1 ผู้กู้ยืม กยศ. ที่ค้างชำระหนี้เกินกว่า 4 ปี 5 งวด (1,460 วันขึ้นไป)

2 ผู้กู้ยืม กยศ. พ้นระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้แล้ว แต่ยังมีหนี้ค้างชำระ

3 ผู้กู้ยืม กยศ. กลุ่มไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องคดี หรือการมีหนี้ค้างชำระตามเงื่อนไข ดังนี้

- ไม่เป็นผู้กูยืมเสียชีวิตหรือสาบสูญ
- ไม่เป็นผู้กูยืมพิการหรือทุพพลภาพ ที่ได้รับอนุญาตให้ระงับการเรียกให้ชำระหนี้แล้ว
- ไม่เป็นผู้กูยืมที่ชำระหนี้ปิดบัญชีแล้ว หรือผู้รับทุนที่มีบัญชีติดลบ
- ไม่เป็นผู้กูยืมที่ถูกดำเนินคดีแล้ว
- ไม่เป็นผู้กูยืมที่ยินยอมให้กองทุนฯ หักเงินเดือน
- ไม่เป็นผู้กูยืมชำระหนี้มากกว่า 10% ของยอดหนี้คงเหลือผลรับชำระหนี้ 2 ปีย้อนหลัง
- ไม่เป็นผู้กูยืมที่ถูกศาลพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด

ขั้นที่ 3 หากโดนดอกเบี้ยปรับก็แล้ว ฟ้องร้องก็แล้ว แต่ยังนิ่งเฉยไม่จ่ายคืน จะทำให้ถูก "บังคับคดีหรืออายัดทรัพย์" โดยกองทุนจะดำเนินการสืบทรัพย์ของผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกัน และบังคับคดีโดยการยึดทรัพย์สินและประกาศขายทอดตลาด เพื่อนำเงินมาชำระหนี้คืนกองทุน ซึ่งผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกันมีทางเลือก 2 ทาง คือ

1 ชำระหนี้ปิดบัญชี ซึ่งหมายถึงการจ่ายเงินปิดบัญชีทั้งหมด

2 ไกล่เกลี่ยชั้นบังคับคดี ตามขั้นตอนทางกฎหมาย

คำแนะนำเพิ่มเติมสำหรับคนที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ให้ติดต่อสำนักงาน กยศ. www.studentloan.or.th ขอรับคำปรึกษาโดยตรง ชี้แจงเหตุและผลของตนเองเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด เช่นเดียวกันกับผู้ที่เริ่มเรียนจบ จริงอยู่ที่ กยศ. จะเริ่มเก็บเงินหลังผู้กู้ยืมเรียนจบแล้ว 2 ปี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น อยากแนะนำให้เริ่มวางแผนการเงินตั้งแต่ก้าวแรกที่เริ่ม เพื่ออนาคตทางการเงินที่ยั่งยืน

พบกับ "โคชหนุ่ม" และ "กาย สวิตต์" ได้ใน สนามข่าว 7 สี ช่วง "เงินทองของจริง" ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.05-9.15 น. ทางช่อง 7HD กด 35

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark