เงินทองของจริง

เงินกู้ผู้สูงอายุ เพื่อใช้ประกอบอาชีพ มีวิธีกู้อย่างไร

ครั้งก่อนเคยพูดถึงช่องทางหางานทำสำหรับผู้สูงอายุไปแล้ว ครั้งนี้จะมาคุยกันเรื่องการหาเงินทุน สำหรับผู้สูงอายุบางท่านที่ต้องการลงทุนทำธุรกิจ ประกอบกิจการของตัวเอง มาดูกันว่าจะมีช่องทางใดเป็นตัวช่วยได้บ้าง

ปัจจุบันมีเงินให้กูยืมสำหรับประกอบอาชีพจาก "สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์" โดยการกู้เงินมีด้วยกัน 2 ประเภท ดังนี้

1. ผู้กู้รายบุคคล วงเงินไม่เกินคนละ 30,000 บาท

2. ผู้กู้แบบกลุ่ม ไม่น้อยกว่า 5 คน วงเงินกลุ่มละไม่เกิน 100,000 บาท

โดยมีเงื่อนไขการชำระหนี้ของการกู้ยืมทุกประเภท ต้องชำระคืนเป็นรายงวด ภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี โดย "ไม่มีดอกเบี้ย" และมีคุณสมบัติของผู้กู้ ดังนี้

1. มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป

2. มีความจำเป็นขอรับการสนับสนุนเงินกู้ยืมประกอบอาชีพ

3. มีความสามารถในการประกอบอาชีพ โดยทางสำนักงานจะตรวจและพิจารณาว่าเงินที่กู้ยืมไป สามารถนำไปประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้ได้จริง

4. มีสภาพร่างกายแข็งแรงประกอบอาชีพได้

5. มีปัจจัยในการสนับสนุนการประกอบอาชีพ เช่น เครื่องไม้เครื่องมือ รวมถึงความรู้ต่าง ๆ

6. มีสถานประกอบอาชีพอยู่จังหวัดเดียวกันกับที่ยื่นขอกู้ยืม เพื่อการติดตามที่ง่ายขึ้น

7. ไม่เป็นผู้ค้างชำระเงินกองทุนผู้สูงอายุ

และเนื่องจากผู้กู้เป็นผู้สูงวัยแล้ว ดังนั้นจึงต้องมีผู้ค้ำประกัน ซึ่งมีคุณสมบัติของผู้ค้ำประกัน ดังนี้

1. มีอายุไม่เกิน 59 ปีบริบูรณ์

2. เป็นผู้มีรายได้หรือเงินเดือนประจำ

3. มีภูมิลำเนาตามทะเบียนราษฎร์อยู่จังหวัดเดียวกันกับผู้กู้ยืม

4. ไม่อยู่ระหว่างเป็นผู้กู้ยืม

5. ไม่อยู่ระหว่างเป็นผู้ค้ำประกันให้กับบุคคลอื่นที่ขอกู้ยืม

ต่อมา มาดูเรื่องขั้นตอนการกู้ยืม ว่ามีลำดับขั้นในอย่างไรบ้าง ?

1. ลงทะเบียนยื่นคำร้อง ว่ามีความประสงค์ต้องการกู้ยืมเงิน

2. เจ้าหน้าที่จะลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงของผู้กู้

3. ยื่นเรื่องเสนอที่ประชุมพิจารณาเรื่องกู้ยืม

4. แจ้งผลการพิจารณากับผู้กู้

5. นัดทำสัญญา/โอนเงินเข้าบัญชีของผู้กู้

ในส่วนของเอกสารประกอบการยื่นคำร้องของผู้กู้ ซึ่งต้องเน้นย้ำว่าต้องเตรียมให้ครบถ้วนมีดังนี้

1. บัตรประจำตัวประชาชน ของทั้ง ผู้กู้ยืม-ผู้ค้ำประกัน

2. ทะเบียนบ้าน ของทั้ง ผู้กู้ยืม-ผู้ค้ำประกัน

3. หนังสือรับรองเงินเดือนผู้ค้ำประกัน เพื่อยืนยันว่ามีรายได้จริง

4. ใบสำคัญการสมรส หรือใบสำคัญการหย่า (ถ้ามี)

5. ใบมรณะบัตร กรณีผู้สมรสเสียชีวิต (ถ้ามี)

6. ใบเปลี่ยน ชื่อ-สกุล (ถ้ามี)

และกรณีที่ผู้ยื่นคำร้องมีอายุ 80 ปีขึ้นไป ควรมีใบรับรองแพทย์ และรูปถ่ายเต็มตัวขณะประกอบอาชีพด้วย

ต้องบอกว่ากองทุนกูยืมประกอบอาชีพสำหรับผู้สูงอายุเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์มาก เพราะในวัยนี้ ผู้ที่มีเงินเก็บเพียงพอสำหรับดูแลตัวเองอาจจะมีไม่ถึงครึ่ง ดังนั้น การใช้ทักษะที่มีอยู่ ผนวกเข้ากับเงินก้อนจำนวนหนึ่ง ทำให้สามารถเป็นตัวจุดประกาย ให้ลุง ๆ ป้า ๆ หลายท่านกลับมาประกอบอาชีพ สร้างรายได้ได้เหมือนวัยหนุ่มสาวกันอีกครั้ง

พบกับ "โคชหนุ่ม" และ "กาย สวิตต์" ได้ใน สนามข่าว 7 สี ช่วง "เงินทองของจริง" ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.05-9.15 น. ทางช่อง 7HD กด 35

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark