เงินทองของจริง

แนะนำ ! กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ดีอย่างไร ทำไมถึงต้องทำ

วันนี้จะมาคุยเพื่อเป็นแนวทางให้กับน้อง ๆ ที่เพิ่งจบใหม่ "First Jobber" เพิ่งทำงานที่แรก แล้วปรากฏว่าทางบริษัทมีสวัสดิการดี ๆ อย่าง "กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ" ที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้จัก และความหมายของคำคำนี้คืออะไร แล้วมันดีอย่างไร ?

พูดง่าย ๆ เข้าใจตรง ๆ ! คำว่า "กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ" หรือ Provident Fund เปรียบเสมือนตัวช่วยสะสมเงินเก็บ ไว้ให้เรามีกินมีใช้ในยามเกษียณ ด้วยหลักการแล้ว จะใช้วิธีการหักเงินเดือน 2-15% โดยแต่ละบริษัทจะมีเงื่อนไขกำหนดตัวเลขขั้นต่ำเอาไว้ โดยเราสามารถเลือกปรับตัวเลขได้ตามลำดับขั้น ภายในกรอบตั้งแต่ 2-15% และในขณะเดียวกัน ทางบริษัทก็จะทำหน้าที่สมทบเงินเข้าไปให้เราในกองทุนฯ ทำให้มีเงินเก็บคู่ขนานกันไปทั้ง 2 ทาง และข้อดีของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ นอกจากจะเป็นเงินเก็บแล้ว ยังได้สิทธิในการลดหย่อนภาษีอีกด้วย

อีกสิ่งสำคัญที่ต้องรู้ ? กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีคำว่า "กองทุน" แสดงว่าจะต้องนำเงินไปลงทุน โดยเงินทั้ง 2 ส่วน ทั้งจากพนักงาน และจากนายจ้าง จะถูกนำไปลงทุนผ่าน "ผู้จัดการกองทุน" ตามแผนที่ผู้ลงทุนเลือก สรุปแล้วทำให้เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพถูกแบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ

1. เงินของเรา หรือ "เงินสะสม"

2. เงินของนายจ้าง หรือ "เงินสมทบ"

3. ผลประโยชน์ของเงินสะสม ซึ่งได้จากเงินของเราที่นำไปลงทุน

4. ผลประโยชน์ของเงินสมทบ ซึ่งได้จากเงินของนายจ้างที่นำไปลงทุน

ทั้งนี้ เงินทั้ง 4 ส่วนจะถูกสะสมไปเรื่อย ๆ และหากเรายิ่งทำงานนาน ยกตัวอย่าง นับตั้งแต่อายุ 20-55 ปี โดยที่เราทำงานและมีเงินสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอย่างต่อเนื่องทุกเดือน ถ้าหากถอนออกมาทีเดียว ก็จะทำให้เราได้เงินก้อนโตออกมาใช้ แถมได้กำไรเพิ่มขึ้นเป็นกอบเป็นกำด้วย

เมื่อเข้าใจหลักการของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และทราบข้อดีกันไปแล้ว คราวนี้มาไขข้อสงสัยไปกับคำถามยอดฮิตอย่าง "หากลาออกหรือย้ายที่ทำงาน เราจะมีวิธีจัดการกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอย่างไร ?" คำตอบก็คือ ทุกปัญหามีทางออก เพื่อน ๆ ไม่ต้องกังวลไป เพราะการลาออกหรือย้ายที่ทำงานเป็นเรื่องปกติ และแน่นอนว่ามีวิธีจัดการหลายทางเลือกมารองรับอยู่แล้ว

ทางเลือกที่ 1 หากเราลาออก และย้ายที่ทำงานไปแล้ว แต่ยังไม่ได้สวัสดิการในส่วนนี้ เนื่องจากเรายังไม่ผ่านโปรฯ หรือด้วยเหตุผลอื่น ๆ เพื่อไม่ให้เป็นการเสี่ยงจนเกินไป เราสามารถแก้ไขได้โดยการ "พักกองทุนฯ ไว้ที่เดิมก่อน" โดยมีค่าธรรมเนียม 500 บาท ต่อระยะเวลาฝาก 1 ปี

ทางเลือกที่ 2 หากดูแล้วมั่นใจว่าบริษัทใหม่ที่เราย้ายเข้าไปเป็น 1 ใน 20,000 กว่าบริษัท จาก 800,000 กว่าบริษัทในไทยที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยเราต้องการย้ายกองทุนฯ ก็สามารถทำได้ด้วย 2 วิธีการ คือ

1. ให้กองทุนฯ เดิมออกเช็ค แล้วนำไปยื่นให้กับ HR ของบริษัทใหม่ เพื่อดำเนินการนำกองทุนฯ ของเราไปบริหารจัดการต่อ

2. ให้ทางกองทุนฯ ของเราออกเช็ค แล้วส่งไปที่กองทุนฯ ที่บริหารกองทุนฯ ของบริษัทใหม่ได้เลย

ทางเลือกที่ 3 หากบริษัทใหม่ไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เราจะใช้วิธีย้ายกองทุนฯ ก็ทำไม่ได้ หรือจะฝากนาน ๆ แบบทางเลือกที่ 1 ก็ไม่ดี และเพื่อเป็นการรักษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีเอาไว้ สามารถทำได้โดยการโยกเงินทั้งกองไปซื้อ "กองทุน RMF สำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ" หรือ RMF for PVD ได้ โดยเราไม่จำเป็นต้องซื้อตลอดไป อาจเป็นการทำในลักษณะชั่วคราว และทิ้งยาวถึงวันเกษียณ

ทางเลือกที่ 4 หากมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนสภาพกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นเงินสด หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ "ถอนออกหมด" เนื่องจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นกองทุนที่ผูกกับสิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยเงินที่เราสะสมตลอดทั้งปีจะเป็นตัวช่วยในการลดหย่อนภาษี หรือไม่นำมาคิดคำนวณภาษี ดังนั้น หากต้องการถอนออกก่อนอายุ 55 ปี จึงต้องมีเงื่อนไขเล็กน้อยตามเกณฑ์ ดังนี้

1. หากอายุสมาชิกไม่ถึง 5 ปี เงิน 3 ส่วนที่เราได้รับต้องนำไปรวมคำนวณภาษีกับรายได้อื่น ๆ เช่น หากเดิมฐานภาษี 40% เงินที่ได้รับก็ต้องเสียภาษีที่อัตรา 40% เป็นต้น

2. หากอายุสมาชิก 5 ปี ขึ้นไป เงิน 3 ส่วนที่เคยได้รับต้องเลือกแยกคำนวณภาาษีจากรายได้อื่น ๆ ด้วยใบแนบ ภ.ง.ด. 90/91

สรุปง่าย ๆ สำหรับ "กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ" ก็คือ เป็นกองทุนเพื่อการเก็บเงินไว้ใช้ในยามเกษียณ โดยหักจากเงินเดือนของเรา และบริษัทช่วยสมทบให้ควบคู่กันไป เพื่อนำไปลงทุน และยังได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เหมือนกับว่าเรามีคนคอยช่วยเก็บเงิน และยังได้กำไรตอบแทนอีกด้วย ค่อย ๆ มีเงินออมเพียงเล็กน้อย แต่เก็บไปเรื่อย ๆ อย่างสม่ำเสมอ เมื่อวันหนึ่งที่เราเกษียณแล้ว อาจมีเงินก้อนจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ถึงหลักล้าน ไว้ใช้หาความสุขหลังวัยทำงานได้ต่อ ๆ ไป

พบกับ "โคชหนุ่ม" และ "กาย สวิตต์" ได้ใน สนามข่าว 7 สี ช่วง "เงินทองของจริง" ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.05-9.15 น. ทางช่อง 7HD กด 35

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark