เงินทองของจริง

เจาะลึก ! สิทธิบัตรทอง ครอบคลุมการรักษาพยาบาล อะไรบ้าง

"สิทธิบัตรทอง" เป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชนคนไทย เมื่อเกิดมา มีบัตรประชาชน ก็สามารถใช้สิทธิบัตรทองได้แล้ว เราจะมาเจาะลึกกันว่าสิทธิบัตรทอง ครอบคลุมการรักษาพยาบาลอะไรบ้าง ?

สิทธิบัตรทอง หรือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้องบอกว่าเป็นสิทธิรักษาพยาบาลที่ครอบคลุมการรักษาในหลากหลายเรื่อง ดังนี้

- บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

- การตรวจวินิจฉัยโรค

- การตรวจและรับฝากครรภ์

- การบำบัดและการบริการทางการแพทย์

- ยา เวชภัณฑ์ อวัยวะเทียม และอุปกรณ์ทางการแพทย์

- การทำคลอด

- การกินอยู่ในหน่วยบริการ

- การบริบาลทารกแรกเกิด

- บริการรถพยาบาล หรือบริการพาหนะรับส่งผู้ป่วย

- บริการพาหนะรับส่งผู้ทุพพลภาพ

- การฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายและจิตใจ

- บริการสาธารณสุขด้านการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือกตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะ

- บริการสาธารณสุขอื่นที่จำเป็นต่อสุขภาพ และการดำรงชีวิตที่บอร์ด สปสช. กำหนดเพิ่มเติม

- การบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาและสารเสพติด ยกเว้นการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด ที่มีกำหนดเกี่ยวกับการให้บริการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด

- การบริการสาธารณสุขที่เกี่ยวกับอุบัติเหตุการประสบภัยจากรถ ยกเว้นการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ

- การรักษาโรคเดียวกันที่ต้องใช้ระยะเวลารักษาตัวในโรงพยาบาลประเภทผู้ป่วยในเกินกว่า 180 วัน

จุดประสงค์ของสิทธิบัตรทอง คือ ช่วยเหลือประชาชนที่เจ็บป่วยด้วยโรคทั่วไป ไปจนถึงโรคร้ายแรง ให้มีโอกาสได้รับการรักษาพยาบาล แม้ว่ามีเงินน้อยหรือไม่มีเงินเลย ทำให้นอกจากที่กล่าวไปแล้ว สิทธิบัตรทองยังครอบคลุมไปถึง "โรคมะเร็ง" ด้วย ซึ่งผู้ใช้สิทธิบัตรทองสามารถเข้ารับการรักษาได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ที่โรงพยาบาลในระบบทั่วประเทศ โดยมีขั้นตอนเข้ารับการรักษา ดังนี้

1. ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยทางการแพทย์ว่าเป็น "โรคมะเร็ง"

2. แพทย์ผู้รักษาตัดสินใจร่วมกับผู้ป่วยโรคมะเร็ง ว่า "เลือกรับการรักษาต่อที่ใด"

3. พยาบาลหรือเจ้าหน้าที่ประสานการส่งต่อไปยัง "หน่วยบริการที่พร้อมให้บริการรักษาโรคมะเร็ง" โดยไม่ต้องใช้หนังสือส่งตัว

4. ผู้ป่วยโรคมะเร็งเข้ารับการรักษา ณ หน่วยบริการเฉพาะด้านโรคมะเร็ง

ถึงแม้ว่า "สิทธิบัตรทอง" จะดูครอบคลุมการรักษาพยาบาลแทบทั้งหมด แต่ก็มีบางกรณีที่ไม่ครอบคลุม ซึ่งผู้ถือสิทธิควรรู้ไว้ด้วย

- การตกแต่งเชิงความสวยความงาม หรือ "ศัลยกรรม" โดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์

- การตรวจวินิจฉัย และการรักษาที่เกินความจำเป็นจากข้อบ่งชี้ทางการแพทย์

- การรักษาที่อยู่ระหว่างการค้นคว้าทดลอง

- การปลูกถ่ายอวัยวะที่ไม่ปรากฏตามบัญชีแนบท้าย

- การบริการทางการแพทย์อื่น ๆ ตามที่บอร์ด สปสช. กำหนด

เจ็บป่วยว่าซวยแล้ว เรื่องความเป็นความตายก็ไม่วายเป็นช่องทางของเหล่า "มิจฉาชีพ" ที่จะเข้ามาหลอกลวง หากินกับบัตรทอง ซึ่งประชาชนคนไทยทุกคนก็ควรระแวดระวังตัวเองให้ดีด้วย โดยทาง สปสช. หรือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ออกมาเตือนว่า "อย่าหลงเชื่อข่าวลือในสื่อออนไลน์" กรณีมีการเผยแพร่ว่าทาง สปสช. ได้มีการส่งข้อความ SMS แจ้งให้ผู้ถือสิทธิอัปเดตข้อมูลบัตรทองให้เป็นข้อมูลปัจจุบัน มิฉะนั้นจะไม่สามารถใช้สิทธิได้ ซึ่ง "ไม่เป็นความจริง" เพราะสิทธิบัตรทองเป็นสิทธิสำหรับดูแลประชาชนที่มาจากภาษีของประชาชน และทางสำนักงานฯ ไม่มีนโยบายให้อัปเดตข้อมูล ไม่มีการโทรติดต่อ และไม่มีการส่งข้อความหาผู้ถือสิทธิแต่อย่างใด ย้ำเตือนว่า อย่าหลงเชื่อ อย่ากดลิงก์ และอย่าให้ข้อมูลส่วนตัว เด็ดขาด !

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 1330 สายด่วน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

พบกับ "โคชหนุ่ม" และ "กาย สวิตต์" ได้ใน สนามข่าว 7 สี ช่วง "เงินทองของจริง" ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.05-9.15 น. ทางช่อง 7HD กด 35

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark