เงินทองของจริง

วิธีเลือกใช้สินเชื่อ เลือกอย่างไรให้เหมาะสม

คนเราเมื่อเงินขาดมือก็ต้องดิ้นรนหาเงินเป็นธรรมดา ซึ่งหนึ่งในตัวเลือกยอดฮิตก็คือ "สินเชื่อ" และสินเชื่อที่น่าสนใจเหล่านั้นมีอะไรบ้าง วันนี้เราจะมาหาคำตอบไปด้วยกัน

หากใครมีความจำเป็นที่ต้องใช้สินเชื่อแล้ว แนะนำว่า "อย่ากู้มั่วโดยไม่ได้สนใจประเภทสินเชื่อ" เพราะสุดท้ายแล้ว ความทุกข์อาจมาถึงตัวได้ ดังนั้น สิ่งแรกที่ต้องพิจารณา คือ ต้องการใช้เงินรูปแบบใด และสินเชื่อที่ตอบโจทย์การใช้เงินของเรา ณ เวลานั้นเป็นอย่างไร

ยกตัวอย่าง คนที่อยากได้เงินก้อนสำหรับประกอบกิจการ ควรใช้ "สินเชื่อ" แต่หากเงินขาดมือเพียงช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ควรใช้ "บัตรกดเงินสด" แทน แต่ก็มีบางคนที่เลือกใช้ผิดประเภท เช่น คนที่อยากได้เงินก้อน แต่กลับใช้บัตรเครดิตในการกดเงินสดออกมาใช้ ซึ่งเป็นการใช้จุดเด่นของบัตรเครดิตที่ไม่ถูกวิธี เพราะบัตรเครดิตควรใช้เพื่อรูดซื้อสินค้าหรือบริการมาใช้ก่อน แล้วค่อยผ่อนจ่ายทีหลัง

และเพื่อเป็นแนวทางในการเลือกใช้สินเชื่อให้เหมาะสมสำหรับทุกคนแล้ว ควรจัดลำดับความคิดใหม่ โดยทำตามขั้นตอนง่าย ๆ ดังนี้

1. ก่อนอื่นต้อง "เข้าใจประเภทสินเชื่อ" เช่น บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล ฯลลฯ ว่าแต่ละประเภทมีเงื่อนไขอย่างไร และตัวเรามีวัตถุประสงค์การใช้เงินอย่างไร เพื่อเลือกให้เหมาะสมตามความต้องการ

2. เมื่อเลือกประเภทได้แล้ว ขั้นต่อมา คือ "เปรียบเทียบสินเชื่อประเภทเดียวกัน" กับสถาบันการเงินหลาย ๆ แห่ง เพื่อหาความคุ้มค่าทางด้านการเงินให้มากที่สุด

3. และท้ายสุด "ตรวจสอบสิทธิประโยชน์เพื่อความคุ้มค่า" เพราะนอกจากเงื่อนไขทางด้านการเงินที่คุ้มค่าแล้ว ยังมีสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ที่ได้เป็นของแถมอีกด้วย เช่น แต้มสะสม ที่จอดรถ หรืออื่น ๆ

ในส่วนของ "การขอสินเชื่อ" มีคำที่หลายคนคุ้นเคยอย่าง "Credit Bureau" แล้ว นอกจากนั้นยังมีคำว่า "Credit Scoring" ด้วย ซึ่งทั้งสองคำล้วนมีผลต่อการขอสินเชื่อของเรา ซึ่งหากเป็นแต่ก่อน จะมีเพียงข้อมูลประวัติการชำระ ทั้งประวัติดี และประวัติไม่ดี หรือก็คือ Credit Bureau แต่ในปัจจุบัน มีการเก็บข้อมูลเป็นตัวเลข หรือ Credit Scoring เพิ่มเข้ามา ซึ่งเป็นคะแนนที่ใช้ชี้วัดความสามารถในการชำระหนี้ของแต่ละคน โดยอ้างอิงจากข้อมูลการชำระหนี้ในอดีต และสถานะของผู้ขอสินเชื่อ

เพราะในการขอสินเชื่อในปัจจุบัน นอกจากการดูประวัติการชำระแล้ว อาจจะต้องดูความสามารถในการชำระประกอบด้วยด้วย เช่น เปรียบเทียบระหว่างคนที่รูดบัตรแล้วจ่ายเต็มจำนวน กับคนที่รูดบัตรแล้วจ่ายขั้นต่ำ ผลก็คือ คะแนนของทั้งสองคนที่ได้ไม่เท่ากัน ด้วยเหตุผลนี้ จึงมีการพัฒนาระบบ Credit Scoring ขึ้นมาเพื่อง่ายต่อการวัดระดับความเสี่ยงสำหรับพิจารณาสินเชื่อ โดยแบ่งเป็นระดับคะแนน หรือ Score Grade เป็น 8 ระดับ ดังนี้

1. ระดับคะแนน 753-900 ระดับความเสี่ยง AA (ดีที่สุด)

2. ระดับคะแนน 725-752 ระดับความเสี่ยง BB

3. ระดับคะแนน 699-724 ระดับความเสี่ยง CC

4. ระดับคะแนน 681-698 ระดับความเสี่ยง DD

5. ระดับคะแนน 666-680 ระดับความเสี่ยง EE

6. ระดับคะแนน 646-665 ระดับความเสี่ยง FF

7. ระดับคะแนน 616-645 ระดับความเสี่ยง GG

8. ระดับคะแนน 300-615 ระดับความเสี่ยง HH

ดังนั้นแล้ว หากเรามีวินัยการเงินที่ดี วางแผนการเงินอย่างรอบคอบ มีประวัติสินเชื่อที่ดีมาโดยตลอด ก็ควรรักษามาตรฐานของตัวเองไว้ เผื่อวันใดวันหนึ่งที่มีความจำเป็นต้องขอสินเชื่อขึ้นมา จะส่งผลให้มีโอกาสง่ายกว่าที่สถาบันการเงินจะอนุมัติสินเชื่อให้กับตัวเรานั่นเอง

พบกับ "โคชหนุ่ม" และ "กาย สวิตต์" ได้ใน สนามข่าว 7 สี ช่วง "เงินทองของจริง" ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.05-9.15 น. ทางช่อง 7HD กด 35

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark