เงินทองของจริง

รู้จัก สิทธิเก็บกิน สิทธิทำเงินบนผืนที่ดิน | เงินทองของจริง

เรื่องเกี่ยวกับทรัพย์สมบัติ เกี่ยวกับที่ดิน ของคนที่มีทรัพย์สินเยอะ ซึ่งมาพร้อมกับคำว่า "สิทธิเก็บกิน" คำนี้คืออะไร ไม่เคยได้ยินมาก่อน ?

"สิทธิเก็บกิน" ว่าด้วยเรื่องกฎหมาย ป.พ.พ. มาตรา 1417 ที่ให้สิทธิในการถือครอง หรือใช้ประโยชน์จากทรัพย์สิน หรืออสังหาริมทรัพย์ ของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง โดยผู้ได้สิทธิเก็บกิน หรือเรียกว่า "ผู้ทรงสิทธิ" มีสิทธิใช้ประโยชน์จากทรัพย์สิน หรือเก็บเกี่ยวดอกผลจากทรัพย์สินนั้นได้ชอบตามกฎหมาย เช่น เปิดให้เช่า เพราะปลูกพืชผลเพื่อหารายได้ เป็นต้น

มีความแยกกันระหว่างเจ้าของที่ดิน กับผู้มารับสิทธิ ซึ่งสามารถระบุผู้รับสิทธิในการหาประโยชน์จากที่ดินได้ โดยทั่วไปแล้ว การจดทะเบียนสิทธิเก็บกิน แบ่งออกเป็น 5 ประเภท ดังนี้

1. "สิทธิเก็บกิน" คือ การจดทะเบียนสิทธิเก็บกินที่ใช้สิทธิเก็บกินในทรัพย์สิน หรืออสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมด

2. "สิทธิเก็บกินเฉพาะส่วน" คือ การจดทะเบียนสิทธิเก็บกินในทรัพย์สิน หรืออสังหาริมทรัพย์บางส่วน

3. "ปลอดสิทธิเก็บกิน" คือ การจดทะเบียนสิทธิเก็บกินที่ให้สิทธิเก็บกินไปแล้ว แต่เกิดการเปลี่ยนแปลงในสิทธิเก็บกินภายหลัง

4. "ครอบสิทธิเก็บกิน" คือ การจดทะเบียนสิทธิเก็บกินที่มีกรณีเดียวกับกรณีปลอดสิทธิเก็บกิน ต่างกันที่คู่กรณีได้ทำข้อตกลงร่วมกัน

5. "เลิกสิทธิเก็บกิน" คือ การจดทะเบียนยกเลิกสิทธิเก็บกินที่มีผลบังคับตามกฎหมาย จะกระทำได้ในกรณีที่ทั้งคู่ต้องการยกเลิกสิทธิเก็บกิน

ขั้นตอนการจดทะเบียนสิทธิเก็บกิน ไม่ยุ่งยากอย่างที่คิด โดยมีด้วยกัน 5 ขั้นตอน ดังนี้

1. ยื่นเอกสาร ณ สำนักงานที่ดิน

2. กรอกรายละเอียดในเอกสารคำขอ

3. จดทะเบียนสิทธิเก็บกิน

3.1 มีค่าตอบแทน จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมจำนวน 100 บาท/คำขอ พร้อมรับใบเสร็จ

3.2 ไม่มีค่าตอบแทน จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมจำนวน 50 บาท/คำขอ พร้อมรับใบเสร็จ

4. นำใบเสร็จรับเงินยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

5. รับเอกสารทั้งหมดคืน พร้อมตรวจสอบความถูกต้อง

เมื่อเข้าใจความหมายของสิทธิเก็บกิน แยกประเภทการจดทะเบียน และขั้นตอนการจดทะเบียนแล้ว คราวนี้มาดู ข้อดี-ข้อเสีย ของการจดทะเบียนสิทธิเก็บกินกันบ้าง

เริ่มจาก "ข้อดี" ก่อน โดย "ผู้ทรงสิทธิ" ตามกฎหมายจะได้ประโยชน์จากทรัพย์สิน หรืออสังหาริมทรัพย์ โดยมีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์ หรือรับดอกผลที่ต่อยอดงอกเงยมาจากสินทรัพย์ที่ตนมีสิทธิเก็บกิน เจ้าของสินทรัพย์สามารถจดทะเบียนสิทธิเก็บกินให้คนที่ต้องการให้สิทธิได้ตลอดชีวิต

ต่อด้วย "ข้อเสีย" โดย "ผู้มิสิทธิเก็บกิน" จะมีสิทธิครอบครอง และใช้ประโยชน์ต่าง ๆ จากสินทรัพย์ที่ดิน แต่ไม่สามารถจัดจำหน่าย หรือซื้อขายที่ดินได้ ที่ดินเหล่านี้ถือเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท

ผู้ได้สิทธิเก็บกินไม่สามารถทำพินัยกรรมให้ลูกได้ เพราะผู้ได้สิทธิเก็บกินหรือ "ผู้ทรงสิทธิ" ไม่มีกรรมสิทธิ์เทียบเท่าเจ้าของสินทรัพย์

ปิดท้ายด้วยคำถามที่หลายคนสงสัย ? "หากเราเป็นเจ้าของที่ดินแล้ว ควรมอบสิทธิเก็บกินให้ใคร" ซึ่งสามารถทำได้หลายรูปแบบ เช่น หากเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน ก็อาจมอบสิทธิเก็บกินให้ลูกเพื่อใช้เก็บเกี่ยวดอกผลได้ โดยผู้เป็นพ่อหรือแม่ยังคงถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินอยู่ หรือกรณีอื่น ๆ เช่น มอบสิทธิเก็บกินให้องค์กร หรือหน่วยงาน เข้ามาทำประโยชน์ก็สามารถทำได้เช่นกัน

พบกับ "โคชหนุ่ม" และ "กาย สวิตต์" ได้ใน สนามข่าว 7 สี ช่วง "เงินทองของจริง" ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.05-9.15 น. ทางช่อง 7HD กด 35

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark