เงินทองของจริง

กู้ร่วมซื้อบ้าน ตัวช่วยที่ทำให้เรามีบ้านได้ง่ายขึ้น

สำหรับคนที่อยากจะกู้ซื้อบ้าน แต่การกู้คนเดียวอาจจะกู้ไม่ไหว จึงมีคำว่าการกู้ร่วมเข้ามาเป็นตัวช่วย วันนี้เราจะมาขยายความคำนี้กัน

การกู้ร่วม คือ การให้คนในครอบครัวที่มีสายสัมพันธ์เดียวกันมาเป็นผู้กู้ร่วม เพื่อที่จะทำให้การผ่อนบ้านมีความง่ายขึ้น ยกตัวอย่างการกู้ร่วมที่พบได้บ่อย เช่น ต้องการซื้อบ้านราคา 3 ล้านบาท ผ่อนต่อเดือนเดือนละ 18,000 บาท แต่ผู้กู้กลับมีรายได้เพียง 30,000 บาทต่อเดือน ซึ่งหากจะให้ผ่อนคนเดียวแล้ว ถือว่ามีอัตราผ่อนเกิน 40% ต่อเดือน อาจจะใช้วิธีการกู้ร่วมกับแฟนที่มีเงินเดือน 30,000 บาท ทำให้รายได้รวมกันเท่ากับ 60,000 บาท ดังนั้น การผ่อนเดือนละ 18,000 บาท จึงไม่เป็นปัญหา

คราวนี้มาดูในเรื่องข้อจำกัดกันบ้าง ว่าการกู้ร่วมจะสามารถกู้ร่วมกับใครได้บ้าง

1. "นามสกุลเดียวกัน" เช่น พ่อ แม่ พี่หรือน้อง หากเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขที่มีนามสกุลเดียวกันแล้ว การกู้ร่วมจะสามารถดำเนินการได้ง่ายมาก

2. "คู่ชีวิต" ไม่ว่าจะเป็น สามี-ภรรยา หรือในปัจจุบันครอบคลุมไปถึงสถานะ แฟน ก็สามารถทำเรื่องกู้ร่วมได้

นอกจากการกู้ร่วมจะมีข้อดีที่ทำให้เข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้นแล้ว ยังมีข้อควรระวังอื่น ๆ ที่ต้องใส่ใจด้วย

1. "ภาระหนี้สิน" การกู้ร่วมที่หลายคนเข้าใจ คือ การกู้ร่วมกัน 2 คน ซึ่งจริง ๆ แล้วการกู้ร่วมสามารถทำถึง 3 คน แต่หากคนใดคนหนึ่งไม่ชำระ หนี้ทั้งหมดจะถูกผลักให้กับคนที่เหลือต้องรับผิดชอบเต็มจำนวน

2. "กรรมสิทธิ์" การถือครองกรรมสิทธิ์ในการกู้ร่วม หากไม่กำหนดเงื่อนไขเป็นพิเศษ กรรมสิทธิ์นั้นจะเป็นของผู้กู้หลัก ดังนั้น ผู้กู้หลัก และผู้กู้ร่วม จะต้องตกลงกันให้ดี หากมีการถือครองกรรมสิทธิ์ร่วมกัน จะต้องระบุให้ชัดเจน และข้อควรระวังสำหรับกรณีผู้กู้หลักและผู้กู้ร่วมที่เป็นแฟนกัน ยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน เรื่องของอนาคตถือว่าเป็นความเสี่ยง ดังนั้น กรณีนี้เน้นย้ำว่าต้องตกลงกันให้ชัดเจนด้วย

3. "สิทธิประโยชน์ทางภาษี" อัตราดอกเบี้ยต่าง ๆ ที่ใช้ลดหย่อนภาษี จะต้องหารตามจำนวนผู้กู้ร่วมทั้งหมด โดยแบ่งออกเป็นสัดส่วนเท่า ๆ กัน

4. "ผู้กู้ร่วมเสียชีวิต" กรณีนี้ไม่น่าเป็นห่วงสำหรับคนที่เป็นครอบครัวเดียวกัน เพราะกรรมสิทธิ์จะตกเป็นของครอบครัว แต่หากผู้กู้ร่วมเป็นแฟนกัน และไม่ได้ตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์เอาไว้ เมื่อผู้กู้หลักเสียชีวิต กรรมสิทธิ์จะตกเป็นของทายาท ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก ทั้งนี้ หากฝั่งใดฝั่งหนึ่งจากไปเสียก่อน และไม่ได้แจ้งกับธนาคาร ทางธนาคารจะนับเงื่อนไขจากสัญญาเดิม ทั้งยอดผ่อน อัตราดอกเบี้ย ระยะเวลาผ่อน และสิทธิต่าง ๆ ดังนั้น หากผู้กู้ร่วมจากไปแล้ว จะต้องแจ้งทางธนาคารด้วย

ข้อควรระวังเพิ่มเติมสำหรับการกู้ร่วม หากผู้กู้ร่วมที่ทำสัญญาและผ่อนชำระไปแล้วเป็นระยะเวลาหนึ่ง และต้องการจะซื้อบ้านเป็นของตัวเองอีกหลังหนึ่ง ด้วยวิธีการกู้ร่วมแล้ว กรณีนี้สามารถทำได้ แต่สัญญากู้ร่วมเดิมจะต้องหาผู้กู้ร่วมคนใหม่มาแทนที่ด้วย มิฉะนั้น ธนาคารอาจมองว่าสัญญาเดิมมีอัตราผ่อนชำระที่สูงเกินไป

พบกับ "โคชหนุ่ม" และ "กาย สวิตต์" ได้ใน "เงินทองของจริง" ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.15-9.25 น. ทางช่อง 7HD กด 35

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark