เงินทองของจริง

ผ่อนบ้านไม่ไหว ไม่อยากขายทิ้ง งานนี้ทำอย่างไรดี ?

ก่อนมีบ้านก็อยากได้บ้าน แต่เมื่อซื้อบ้านไปแล้วปรากฏว่าผ่อนไม่ไหว ทั้ง ๆ ที่เรายังอยากได้บ้านหลังนั้นอยู่ แบบนี้จะมีวิธีการจัดการอย่างไร สำหรับคนที่ผ่อนบ้านไม่ไหว

สิ่งแรกที่เตือนก่อนเลย คือ อย่าปล่อยให้ตัวเองผ่อนไม่ไหวจนถึงขั้นผิดนัดชำระ เพราะจะทำให้เกิดประวัติการชำระหนี้ไม่ดี ส่งผลให้หลังจากนั้นการเจรจาต่อรองหรือการเข้าถึงสินเชื่อทางการเงินอื่น ๆ จะเป็นไปได้ยาก ดังนั้น จึงมีทางออกดี ๆ มาแนะนำกัน

1. เข้าไปคุยเจรจากับธนาคาร เมื่อได้โอกาสเจรจา ก็ต้องเปิดใจ พูดคุยกันตรง ๆ เพื่อขอลดภาระการผ่อนชำระ เช่น ลดดอกเบี้ย จ่ายเฉพาะดอกเบี้ย หรือแม้กระทั่งปรับงวดผ่อนเป็นกรณีพิเศษ

2. หากวิธรการเจรจาในวิธีแรกไม่ได้ผล สามารถใช้วิธีที่ 2 คือ รีไฟแนนซ์ เป็นตัวช่วยทำให้การผ่อนชำระต่ำลง พอหายใจหายคอได้ ซึ่งสามารถยืดระยะเวลาผ่อนออกไปได้อีกด้วย

3. ปรับโครงสร้างหนี้ จัดการปัญหาหนี้อื่น ๆ ไปพร้อม ๆ กัน เพราะหลายคนที่ผ่อนบ้านไม่ไหว มักมีรายจ่ายจากการผ่อนอื่น ๆ ควบคู่กัน ดังนั้น การจัดการโดยการรวมหนี้ให้เป็นก้อนเดียว มีโอกาสช่วยทำให้ชีวิตประจำวันของเราดำเนินไปได้ราบรื่นกว่า จัดการวางแผนการเงินได้ง่ายกว่ามาก

อีกตัวอย่างของคนซื้อบ้าน หากผ่อนไม่ไหวแล้ว และต้องการขายบ้าน จะมีวิธีการขายบ้านที่กำลังผ่อนอยู่อย่างไร อันดับแรกต้องปรับมุมมองใหม่เสียก่อน เพราะมีหลายคนที่คิดว่าการขายบ้านคือตัวบ่งชี้ความล้มเหลวทางการเงินอย่างหนึ่ง อาจจะต้องมองในมุมนี้ใหม่ เพราะการขายบ้านถือเป็น วิธีแก้ปัญหาการเงิน อย่างหนึ่ง บ้านที่ติดจำนองอยู่ก็สามารถขายได้ เพราะถือเป็นทรัพย์สินของเราตั้งแต่วันแรกที่เราซื้อแล้ว

โดยการกู้ซื้อบ้านมีลำดับขั้นตอน คือ บ้านจะเปลี่ยนชื่อเป็นชื่อเราก่อน จากนั้นจึงเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารเพื่อจดจำนอง จึงสามารถขายได้ เพียงแต่การขายบ้านที่จดจำนองอยู่ อาจจะต้องวางแผนสักเล็กน้อย ซึ่งการตั้งราคาขายบ้านนั้นสามารถกำหนดได้หลากหลายรูปแบบทั้ง ตั้งราคาสูงกว่าเพื่อทำกำไร ตั้งราคาเท่าทุน หรือตั้งราคาขาดทุนเพื่อเคลียร์หนี้ ขึ้นอยู่กับสภาวะทางการเงินของแต่ละคน ดังนั้น หากเตรียมการไว้แต่เนิ่น ๆ จึงเป็นตัวช่วยได้มาก เคล็ดลับการขายบ้านให้ได้เร็วขึ้น

1. ปรับสภาพบ้าน ทำความสะอาด ปรับปรุงภูมิทรรศน์ เพื่อให้ดูสวยงามด้วยหลักการ เอาใจเขามาใส่ใจเรา หากเราเป็นผู้ซื้อ เมื่อเรามองมาบ้านหลังนี้แล้วเรารู้สึกอย่างไร สภาพบ้านมีความน่าซื้อหรือไม่ ดังนั้นจึงต้องทำให้พร้อม

2. นายหน้า มีค่าใช้จ่าย 3 ของราคาบ้าน โดยนายหน้าจะมีข้อมูลกลุ่มผู้ซื้ออยู่แล้ว ทำให้การขายบ้านมีความง่ายขึ้น

3. ค่าธรรมเนียม ซึ่งค่าธรรมเนียมในการขายบ้านส่วนใหญ่จะตกอยู่ที่ผู้ขาย ทั้งภาษีเงินได้ ภาษีธุรกิจเฉพาะ (ถ้ามี) และอากร รวมถึงค่าโอนคนละครึ่ง โดยผู้ขายสามารถปรึกษากรมที่ดินหรือนายหน้าเพื่อคิดคำนวณตัวเลขค่าใช้จ่ายได้ก่อน หรือกรณีที่ดีต่อผู้ขายที่สุดหากตกลงกันได้ สามารถเขียนผลักค่าใช้จ่ายให้ผู้ซื้อแทนก็ทำได้เช่นกัน

พบกับ โคชหนุ่ม และ กาย สวิตต์ ได้ใน เงินทองของจริง ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.15-9.25 น. ทางช่อง 7HD กด 35

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark