เงินทองของจริง

ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ คือการออมเงินรูปแบบหนึ่ง!

เจาะลึกเรื่องการทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ มีข้อดีอย่างไร ได้ผลประโยชน์สูงจริงหรือไม่ และข้อควรระวังที่ต้องรู้ก่อนตัดสินใจทำประกัน

ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ หรือ ประกันชีวิตแบบออมทรัพย์ คือ การที่เราทำประกัน จ่ายเบี้ยประกัน และได้รับความคุ้มครองเท่ากับทุนประกัน ภายใต้ระยะเวลาที่ระบุชัดเจน แต่เมื่อครบระยะเวลากรมธรรม์แล้ว จะได้ทุนประกันพร้อมกับผลประโยชน์เพิ่มเติม ดังนั้น สรุปได้ว่าเบี้ยประกันที่เราส่งจ่ายไป เปรียบเสมือนเงินออมที่เราค่อย ๆ สะสมเอาไว้ เพียงแต่ถอนไม่ได้หากยังไม่ครบระยะเวลา แต่จะได้ในเรื่องของความคุ้มครองในช่วงระยะเวลานั้นแทน

การทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ถือว่าเป็นผลประโยชน์โดยอ้อม ที่หลายคนมักมองว่าเป็นการฝากเงินและมีความคุ้มครอง ซึ่งจริง ๆ แล้วอยากให้เข้าใจว่าเราซื้อประกันชีวิตเพื่อหวังความคุ้มครอง ส่วนผลประโยชน์อื่น ๆ ถือเป็นการสะสมที่ปลายทาง และปัจจุบัน ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ก็มีรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งมีเงินคืนระหว่างปี หรือหากใครที่ส่งจ่ายไม่ไหวก็สามารถขอเวนคืนได้ เพียงแต่จะได้คืนน้อย นอกจากนั้น หลายคนนิยมทำประกันชีวิตรูปแบบนี้เพื่อผลประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีได้ด้วย

คำถามที่ว่า "ทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ได้มากกว่า 100% จริงหรือไม่ ?" เมื่อเห็นผลตอบแทนของหลาย ๆ แห่งที่ได้มากถึง 144%-220% ต้องเข้าใจว่า คือ ผลลัพธ์โดยรวมเมื่อเทียบกับผลตั้งต้น มิใช่ผลรายปี เช่น เมื่อเราทำประกันด้วยวงเงินหนึ่ง สุดท้ายปลายทางได้เงินสะสมรวมเกินที่ตั้งไว้ 100% ซึ่งหากเทียบสัดส่วนผลประโยชน์กับระยะเวลา 10-20 ปีแล้ว เมื่อคำนวณเป็นรายปีออกมา ก็อาจจะไม่ได้สูงมาก

และเมื่อเราได้เงินคืนในระหว่างที่ซื้อประกัน เงินส่วนนี้จะไม่ต้องเสียภาษีเหมือนดอกเบี้ยเงินฝาก เพราะไม่มีการคิดภาษีในส่วนนี้ แต่ก็มี ข้อควรระวังในการเลือกซื้อประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ที่ต้องระมัดระวังด้วย ดังนี้

1. ความเสี่ยงหรือวัตถุประสงค์ในการซื้อ หากกลัวความเสี่ยงเรื่องการเสียชีวิตแล้วจะเกิดผลกระทบทางการเงินต่อคนข้างหลัง โดยส่วนตัว "โคชหนุ่ม" มองว่าประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์อาจจะไม่ตอบโจทย์ เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วประกันชีวิตรูปแบบนี้นิยมซื้อเพื่อลดหย่อนภาษีมากกว่า แต่หากได้รับผลประโยชน์ที่น่าพอใจ ก็สามารถซื้อได้เช่นกัน

2. ขนาดของทุนประกันที่เหมาะสม ยกตัวอย่างบางคนที่ทำประกันชีวิตเพื่อหวังดูแลครอบครัว โดยเลือกทุนประกัน 2 แสนบาท ซึ่งเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น ด้วยทุนประกันเพียง 2 แสนบาทนี้ก็อาจจะใช้ดูแลครอบครัวได้ไม่นาน ดังนั้น ต้องเลือกขนาดของทุนประกันให้ดี

3. ทุน (เบี้ยประกัน) ผู้ซื้อประกันต้องประเมินกำลังตัวเอง และแจ้งบริษัทหรือตัวแทนประกันเพื่อให้เขาแนะนำแบบประที่ไม่เกินความสามารถในการจ่ายของเรา และไม่ให้ก่อให้เกิดปัญหาทางการเงินในระยะยาว

4. สภาพคล่อง ผู้ซื้อประกันต้องคิดเผื่ออนาคต เพราะการจ่ายเบี้ยประกันมิใช่การจ่ายเพียงครั้งเดียว และการตัดสินใจแบบ "คนใจใหญ่" อาจทำให้สภาพคล่องเกิดมีปัญหาได้ ยกเว้นการทำประกันแบบ Single Premium หรือการจ่ายเบี้ยประกันเพียงครั้งเดียวและได้รับความคุ้มครองตามเงื่อนไข แต่เบี้ยประกันถือว่าแพงมาก

5. การจัดการเงิน ต้องแยกสัดส่วนให้ชัดเจน ไม่ใช้เงินส่วนอื่นมาจ่ายเบี้ยประกัน และไม่นำเงินส่วนที่แบ่งไว้จ่ายเบี้ยประกันไปใช้จ่ายอย่างอื่นเช่นกัน

6. บริษัทประกัน เลือกบริษัทที่น่าเชื่อถือ เปรียบเทียบแต่ละแห่ง อ่านรายละเอียดข้อกำหนดและเงื่อนไข ทำความเข้าใจให้ชัดเจนก่อนตัดสินใจทำประกัน

พบกับ "โคชหนุ่ม" และ "กาย สวิตต์" ได้ใน "เงินทองของจริง" ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.15-9.25 น. ทางช่อง 7HD กด 35

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark