เงินทองของจริง

เตรียมความพร้อมก่อนมีลูก วางแผนการเงินอย่างไรเพื่อเจ้าตัวน้อย

ยุคสมัยนี้คนนิยมมีลูกน้อยลง เพราะในมุมหนึ่งคือมุมมองทางสังคม และอีกส่วนหนึ่งคือมุมมองเรื่องค่าใช้จ่าย ซึ่งหากพูดถึงเรื่องค่าใช้จ่ายแล้ว การมีลูกถือเป็นเรื่องสำคัญที่จำเป็นต้องวางแผนก่อน

บางคนที่คิดมากไปและอาจคิดว่าการมีลูกหนึ่งคนกว่าจะเรียนจบต้องใช้เงินเป็นล้าน ก็เป็นข้อมูลที่มีความเป็นไปได้สูง แต่อย่าลืมว่าเงินหลักล้านนั้นเราไม่ต้องจ่ายทั้งหมดในคราวเดียว และในทางกลับกัน สำหรับบางคนที่คิดน้อยไป ไร้ความกังวลเรื่องเงิน มี ๆ ไปก่อน ยังไงก็จ่ายได้ เดี๋ยวค่อยหาเงินทีหลัง ก็ถือเป็นแนวคิดที่ไม่ควร

อันดับแรกถ้าอยากมีลูก ต้องคุยกันก่อนว่าอยากมีจริง ๆ หรือไม่ ? หากตกลงเรียบร้อยค่อยวางแผนการเงินแบบจริงจัง เปิดอกคุยแจกแจงรายรับรายจ่าย ประเมินความพร้อมว่าพร้อมหรือไม่ หากชีวิตยังติดขัด ตัวเลขยังติดลบ ก็ยังไม่ควรมี เพราะหนึ่งชีวิตที่เกิดมาแล้วต้องอยู่อย่างยากลำบาก นอกจากจะเกิดภาวะทางการเงินที่ไม่ดีแล้ว ยังมีผลต่อภาวะทางความคิดที่ต้องรู้สึกผิดไปอีกนาน ดังนั้น สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ "การจัดการสภาพคล่องทางการเงินให้ดี" โดยการปรับลดรายจ่าย ลดภาระหนี้ และหารายได้เพิ่ม

การวางแผนการเงินก่อนมีลูก ไม่จำเป็นต้องวางแผนทีเดียวทั้งหมด แต่ใช้วิธีการวางแผนเป็นลำดับขั้นตอน เช่น เริ่มต้นจากวางแผนช่วงตั้งครรภ์ไปสู่การคลอด โดยเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับค่าใช้จ่ายฝากครรภ์และทำคลอด และเมื่อผ่านพ้นไปด้วยดีแล้ว ค่อยวางแผนต่อในช่วงเข้าเรียนอนุบาล และหลังจากนั้น แนะนำให้วางแผนเตรียมการล่วงหน้าไว้อย่างน้อย 3 ปีไปเรื่อย ๆ ในพิกัดที่แต่ละครอบครัวรับมือไหว

สำหรับใครที่มีลูกโดยรู้สึกว่ายังไม่พร้อม ก่อนอื่นอย่าเพิ่งกังวลไป แนะนำให้ค่อย ๆ ปรับตามวิธีลดรายจ่าย ลดภาระหนี้ และหารายได้เพิ่ม จนถึงจุดที่ทำให้มีเงินเก็บออม หลังจากนั้นควรวางแผนล่วงหน้าอย่างน้อย 3 ปี เพื่อรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น ทำประกันสุขภาพไว้รองรับการเจ็บป่วย และคอยวางแผนอย่างใจเย็นไปเรื่อย ๆ ทีละ 3 ปีล่วงหน้า หรือเท่าที่ตัวเองไหว จะเป็นตัวช่วยที่ทำให้ครอบครัวไม่เครียดจนเกินไป และอยู่กับความเป็นจริงได้อย่างมีความสุขมากขึ้น

นอกจากการบริหารการเงินเพื่อลูกแล้ว การบริหารความรู้สึกภายในครอบครัวก็เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำควบคู่กันไป เพราะทั้งสองอย่างเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกันไปอย่างคู่ขนาน หากให้เห็นภาพชัด ยกตัวอย่างจากลูกในวัยเด็ก พ่อแม่เป็นผู้จัดสรรสิ่งต่าง ๆ มาให้ทั้งเสื้อผ้า ของใช้ อาหารการกิน ที่ทำให้เขาโตขึ้น และเมื่อถึงวันที่เขาเริ่มมีความสนใจในหลาย ๆ อย่าง ทำให้ ณ เวลานั้น แผนการเงินที่วางไว้อาจต้องปรับเปลี่ยน ซึ่งอาจจะน้อยลงหรือเพิ่มขึ้น โดยสิ่งที่พ่อแม่อย่างเรา ๆ ทำได้คือให้การสนับสนุนและมองความสำเร็จของเขาบนความสุขของเราอยู่เบื้องหลัง

พบกับ "โคชหนุ่ม" และ "กาย สวิตต์" ได้ใน "เงินทองของจริง" ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.05-9.15 น. ทางช่อง 7HD กด 35

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark