เงินทองของจริง

วิกฤตต้มยำกุ้ง คืออะไร ส่งผลกระทบอะไรต่อเราบ้าง

วิกฤตทางการเงินที่เคยเกิดขึ้น อยากให้รู้จักกันว่า วิกฤตเศรษฐกิจที่เคยเกิดขึ้น มันเกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วถ้าเกิดขึ้นจะมีผลกระทบอะไรกับเราบ้าง วันเริ่มจาก วิกฤตต้มยำกุ้ง คนไทยเราจะได้ยินกันบ่อยเลย วิกฤตนี้เป็นอย่างไรบ้าง

ข้อมูลจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย บอกว่า วิกฤตการณ์การเงิน 2540 หรือ "วิกฤตต้มยำกุ้ง" เริ่มต้นเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ซึ่งเป็นวันที่ประเทศไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาท และต้องขอความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund : IMF) วิกฤตครั้งนั้นส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและสร้างความเสียหายอย่างมากต่อประเทศไทย และส่งผลไปถึงภูมิภาคอาเซียนและอีกหลายประเทศในเอเชียจนเป็นวิกฤตทางการเงินในที่สุด

ทางคณะกรรมการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงินของประเทศ (ศปร.) สรุปว่า วิกฤตดังกล่าวเกิดจากการก่อหนี้ของเอกชน แต่การดำเนินการของภาครัฐที่ผิดพลาดทำให้วิกฤตบานปลาย คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีนโยบายเปิดตลาดเงิน พร้อมกับรักษาช่วงอัตราแลกเปลี่ยนที่แคบมาก ปล่อยให้เงินกู้ไหลเข้าประเทศปริมาณมากเกินควบคุม ธปท. เลือกใช้วิธีใช้ swap ในการปกป้องค่าเงินบาท ซึ่งเป็นการทุ่มเงินสำรองระหว่างประเทศอย่างขาดความรอบคอบ

เมื่อเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งจะมีการส่งผลกระทบต่อเราอย่างไรบ้าง ?

เมื่อเกิดวิกฤต “ต้มยำกุ้ง” แน่นอนเลยคือจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ ภาพเหตุการณ์ของการปิดบริษัท ปิดสถาบันการเงิน คนตกงาน ถูกลดเงินเดือน บ้านโดนยึด หลายคนต้องออกจากโรงเรียน ต้องเอาของมือสองใส่ท้ายรถเร่ขายตามตลาดนัด เพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว ยังเป็นฝันร้ายที่คนรุ่นพี่ๆ หลายคนไม่เคยลืมเลือน

เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ต้องบริหารจัดการอย่างไร ?

1. Cash is the King หรือ ‘เงินสดคือราชา’ เงินสภาพคล่องสำคัญมาก
ตามหลักการวางแผนการเงิน เราควรมีสภาพคล่องอย่างน้อย 3 - 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน ซึ่งทำให้หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน หรือถูกให้ออกจากงาน (Lay Off) กะทันหัน เราจะได้อยู่ต่อไปได้อีก 3 - 6 เดือน

2. การวิเคราะห์ค่าใช้จ่าย
คุณต้องเริ่มรวบรวมรายการค่าใช้จ่ายออกมาทั้งหมด แล้วลองดูว่าอะไรคือค่าใช้จ่ายจำเป็น อะไรคือค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ให้ตัดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยทิ้งทั้งหมด นอกจากนี้ หากคุณมีหนี้สิน ที่เริ่มรู้สึกว่าอาจจะจ่ายไม่ไหว คุณต้องรีบติดต่อสถาบันการเงินที่คุณเป็นหนี้อยู่ เพื่อดูว่าจะมีมาตรการอะไรที่พอจะช่วยเหลือ หรือบรรเทาสถานการณ์ได้ ซึ่งตอนนี้หลายๆ ธนาคารก็ออกมาตรการมาช่วยเหลือลูกหนี้ของธนาคารอยู่ คุณต้องรีบติดต่อธนาคารของคุณทันที

การลดรายจ่ายสำคัญอย่างไร สำคัญที่หากคุณลดรายจ่ายลงได้ จะทำให้คุณใช้สภาพคล่องของคุณได้นานขึ้น ทำให้คุณได้พอหายใจ หายคอได้ และมีเวลาตั้งหลักเพื่อหาทางออกที่ดีในลำดับถัดไปได้

พบกับ "โคชหนุ่ม" และ "กาย สวิตต์" ได้ใน "เงินทองของจริง" ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.05-9.15 น. ทางช่อง 7HD กด 35

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark