เงินทองของจริง

กองทุนแบบไหนเหมาะกับเรา Passive Fund หรือ Active Fund ?

Passive Fund และ Active Fund คืออะไร แล้วมีข้อดี-ข้อเสียอะไรบ้าง ?

ก่อนที่จะลงทุนในกองทุนรวม เราต้องรู้ก่อนว่ากองทุนที่เรากำลังจะลงทุนนั้น เป็นกองทุนประเภทไหน และผู้จัดการกองทุนมีแนวทางในการบริหารกองทุนอย่างไร ซึ่งกลยุทธ์ที่ผู้จัดการกองทุนใช้ในการบริหารกองทุน จะแบ่งได้เป็นการบริหารแบบเชิงรับ หรือ Passive Fund และการบริหารแบบเชิงรุก หรือ Active Fund แล้ว Passive Fund และ Active Fund คืออะไร นักลงทุนควรพิจารณาเลือกลงทุนแบบไหนดีกว่ากัน

Passive Fund
กองทุนรวมหุ้นที่มีวัตถุประสงค์ในการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนให้ “ใกล้เคียงกับดัชนีให้มากที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้” เช่น วันนี้ SET Index +5%  กองทุนรวมดัชนีก็ต้อง +5%  หรือ +4.9%  หรือ +5.1%  โดยประมาณ (ขอให้ได้ใกล้เคียงที่สุด) เป็นต้น

ข้อดี
- กองทุนรวมดัชนี เป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำสุดในบรรดากองทุนรวมหุ้น หรือ ถ้าจะมีความเสี่ยง ก็จะเสี่ยงในระดับเดียวกับดัชนี
- กองทุนรวมดัชนี มีค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมที่ต่ำกว่ากองทุนรวมแบบ Active
- ด้วยความที่กองทุนรวมดัชนี ไม่จำเป็นต้องใช้ ผู้จัดการกองทุน ในการคัดเลือกหุ้น ดังนั้นความเสี่ยงในเรื่องของการคัดเลือกหุ้นให้ถูกตัว หรือเลือกหุ้นผิดตัวจึงต่ำกว่า
- กองทุนรวมดัชนี เมื่อมีการลงทุนเลียนแบบดัชนี จึงทำให้กองทุนรวมดัชนี สามารถถือหุ้นได้ยาวกว่า ดังนั้นถ้าใครอยากถือหุ้นยาว ๆ หรือ ลงทุนระยะยาว กองทุนรวมดัชนีน่าจะเป็นอีกทางเลือกที่ดี เพราะกองทุนรวมดัชนีจะมีการ ปรับเปลี่ยน พอร์ตน้อยมาก คือ ปรับเปลี่ยนพอร์ตตามดัชนี ทุก ๆ 6 เดือน หรือ 1 ปี

ข้อเสีย
- กองทุนรวมดัชนี จำเป็นจะต้องลงทุนในหุ้นตลอดเวลา ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่า ในภาวะตลาดหุ้นเป็นขาขึ้น กองทุนรวมดัชนีจะให้ผลตอบแทนที่ดีมาก ในทางกลับกัน ถ้าเป็นตลาดขาลง กองทุนรวมดัชนีก็จำเป็นจะต้อง ถือหุ้นตลอดเวลาด้วยเช่นกัน จึงทำให้ผลตอบแทนลดลงตามดัชนี
- นอกจากนี้เมื่อเป็นตลาดขาลง กองทุนรวมดัชนี ไม่สามารถลดทอน หรือขายหุ้น ออกจากพอร์ตได้หมดแล้วถือเป็นเงินสด ซึ่งกองทุนรวมแบบ Active จะได้เปรียบตรงจุดนี้ เนื่องจากผู้จัดการกองทุนสามารถปรับพอร์ตได้ตามภาวะของตลาด
- กองทุนรวมดัชนี มีเป้าหมายเพื่อ “สร้างผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนี” เท่านั้นฉะนั้นนักลงทุนจึงไม่สามารถคาดหวังถึงการเอาชนะตลาดได้

Active Fund
เป็นการบริหารแบบเชิงรุก โดยใช้ความสามารถของผู้จัดการกองทุนเป็นหลัก ในการคัดเลือกสินทรัพย์ที่จะเข้าลงทุน โดยเป้าหมายคือต้องการให้ได้รับผลตอบแทน สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด (benchmark) อาทิ ลงทุนให้ได้อัตราผลตอบแทน มากกว่า SET Index โดยสามารถแบ่งการวิเคราะห์การลงทุนของผู้จัดการกองทุนได้ใน    2 รูปแบบ คือ

1. การวิเคราะห์แบบ Top-Down Analysis ผ่านการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค อุตสาหกรรม และจึงมาดูพื้นฐานของสินทรัพย์ที่จะเข้าลงทุนว่าในภาวะนี้ จะเหมาะสมที่จะลงทุนหรือไม่
2. การวิเคราะห์แบบ Bottom-Up Analysis จะพิจารณาจากสินทรัพย์ ที่เข้าลงทุนก่อนว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีคุณภาพหรือไม่ แล้วค่อยดูว่าสภาพแวดล้อม ในอุตสาหกรรมนั้นดีหรือไม่ และสุดท้ายจึงดูว่าเป็นเวลาเหมาะทางเศรษฐกิจ ที่จะลงทุนหรือยัง ก็จะตรงข้ามกับวิธี Top-Down ส่วนข้อดี ข้อเสียของกองทุนรวมแบบ Active ก็จะตรงกันข้ามกับแบบ Passive

ผลตอบแทน Passive Fund vs. Active Fund
นักลงทุนอาจคิดว่า Active Fund ให้ผลตอบแทนสูงกว่า Passive Fund เพราะมีการบริหารพอร์ตลงทุนแบบเชิงรุก แต่เมื่อดูข้อมูลในอดีต 10 ปีที่ผ่านมา กลับพบว่ากองทุนรวมส่วนใหญ่นั้น ให้ผลตอบแทนน้อยกว่าตลาด

- กองทุนหุ้นสหรัฐฯ ขนาดใหญ่เพียง 8.59% เท่านั้นที่ชนะดัชนี S&P 500
- กองทุนหุ้นยุโรป 10.30% เท่านั้นที่ชนะดัชนี S&P Europe 350
- กองทุนหุ้นญี่ปุ่น 18.06% เท่านั้นชนะดัชนี S&P/TOPIX 150
- กองทุนหุ้นอินเดีย 32.09% ชนะดัชนี S&P BSE100
- กองทุนหุ้นอินเดียขนาดกลาง-เล็ก 50% ชนะดัชนี S&P BSE 400 Mid-SmallCap Index (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธ.ค.2566)

จะเห็นได้ว่า กองทุนส่วนใหญ่ให้ผลตอบแทนแพ้ตลาด โดยเฉพาะกองทุนของตลาดหุ้น ที่มีประสิทธิภาพ เช่น ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่มีนักวิเคราะห์ หรือนักลงทุนจำนวนมากแข่งขันกัน เพื่อหาหุ้นที่ดี ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้เหมือน ๆ กัน จนสุดท้ายแทบไม่มีใครเลย ที่สามารถชนะตลาดได้

พบกับ "โคชหนุ่ม" และ "กาย สวิตต์" ได้ใน "เงินทองของจริง" ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.05-9.15 น. ทางช่อง 7HD กด 35

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark