เงินทองของจริง

แอปฯ กู้เงิน ถูกกฎหมาย อันไหนจริงหรือหลอก ?

ปัจจุบันมีแอปพลิเคชันกู้เงินออกมาเยอะแยะมาก ทั้งมาใน SMS ในเฟซบุ๊ก เด้งขึ้นมาให้กดโหลดแอปมากมาย แบบนี้เราจะทราบได้อย่างไรว่าอันไหนคือแอปพลิเคชันจริง ?

หลักเกณฑ์ในการพิจารณาก่อนตัดสินใจขอสินเชื่อกับแอปใดถูกกฎหมายหรือไม่ มีดังนี้

1. ต้องมีใบอนุญาตจากกระทรวงการคลัง ที่มีธนาคารแห่งประเทศไทยกำกับดูแล
ไม่ว่าจะเป็นแอปกู้เงินของธนาคาร หรือ Non-bank จะถูกกฎหมายได้ต้องเป็นบริการให้สินเชื่อที่ได้รับใบอนุญาตแล้วเท่านั้น เพื่อความปลอดภัยของลูกหนี้ว่า ข้อมูลไม่ได้ถูกนำไปใช้อย่างผิดกฎหมาย

โดยเราสามารถตรวจสอบได้ง่าย ๆ ว่าแหล่งสินเชื่อไหนถูกกฎหมายที่ เว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทย

2. แอปกู้เงินถูกกฎหมาย จะมีอัตราดอกเบี้ยไม่เกินกว่าที่แบงก์ชาติกำหนด
- สินเชื่อส่วนบุคคล (P-Loan) ไม่เกิน 25% ต่อปี (สำหรับสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นหลักประกันต้องไม่เกิน 24%)
- สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ (Nano Finance) เมื่อคำนวณรวมกันแบบลดต้นลดดอก (Effective rate) ต้องไม่เกิน 33% ต่อปี
-  บัตรเครดิต (Credit Card) คำนวณรวมกันแบบลดต้นลดดอก ต้องไม่เกิน 16% ต่อปี
- ผู้ให้บริการอื่น ๆ มิให้คิดดอกเบี้ยเกิน 15% ต่อปี

3. แอปกู้เงินถูกกฎหมาย จะเปิดเผยข้อมูลดอกเบี้ย ค่าบริการ เบี้ยปรับอย่างละเอียด
แอปที่น่าเชื่อถือก็มักจะมีช่องทางในการติดต่อชัดเจน และมีระบุรายละเอียดในการกู้ยืมอย่างตรงไปตรงมา ทั้งอัตราดอกเบี้ย ค่าบริการ และเงื่อนไข อาทิ จำนวนวงเงิน ระยะเวลาในการผ่อนชำระคืน

4. ไม่เรียกเก็บค่าดำเนินการก่อนทำสัญญา
ประเภทที่เราต้องโอนเงินให้เขาก่อนถึงจะกู้เงินได้ ขอให้รู้ว่าเราได้เจอกับมิจฉาชีพเข้าให้แล้ว ไม่ต้องเสียเวลาทำธุรกรรมกับเขาทั้งสิ้น เราจะไม่มีทางได้เงินแน่นอน

อย่าโลภจนขาดสติโฆษณาชวนเชื่อที่ที่ดูเกินจริง ดอกเบี้ยต่ำมาก วงเงินสูงมาก จนดูเป็นไปไม่ได้ ขอให้ข้ามไปเลย เพราะแทนทีจะมีเงินมาหมุนกลับต้องสูญเงินกว่าเดิม

ตัดสินใจกู้เงินสักก้อน ต้องมีการพิจารณาอะไรบ้าง ?

1. ดูความจำเป็นในการก่อหนี้
โดยพิจารณาก่อนว่าหนี้ที่กำลังจะก่อขึ้นนั้น มีความจำเป็นกับชีวิตมากน้อยเพียงใด ข้าวของที่จะซื้อเป็นสิ่งของจำเป็นหรือแค่ความต้องการ และมีราคาสูงเกินกำลังที่จะจ่ายจนสร้างความลำบากให้กับตัวเองหลังซื้อหรือไม่

2. เลือกประเภทของสินเชื่อให้เหมาะกับความต้องการ
สินเชื่อมีด้วยกันหลากหลายประเภท เช่น สินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจ เป็นต้น จึงต้องวางแผนให้ดีก่อนว่าจะขอสินเชื่อเพื่อนำเงินไปทำอะไร วงเงินเท่าไรที่ต้องการ และตัวเองมีทรัพย์สินอะไรเป็นหลักประกันบ้าง

3. เปรียบเทียบเงื่อนไขการให้สินเชื่อและอัตราดอกเบี้ย
อกจากเลือกประเภทสินเชื่อให้ตรงตามความต้องการแล้ว ต้องทำความเข้าใจเงื่อนไขข้อกำหนดต่าง ๆ ให้ละเอียด เนื่องจากสถาบันการเงินแต่ละแห่งมีบริการสินเชื่อโดยมีเงื่อนไขการให้สินเชื่อ อัตราดอกเบี้ย รวมไปถึงวงเงินที่แตกต่างกัน

4. ประเมินศักยภาพในการชำระหนี้และสภาพคล่องในการใช้จ่าย
ก่อนที่จะก่อหนี้ ควรประเมินฐานะการเงินและความพร้อมในการชำระหนี้ของตัวเองว่ามีมากน้อยเพียงใด ปัจจุบันมีภาระค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง และในแต่ละเดือนมีภาระหนี้ที่ต้องจ่ายเท่าไหร่ ซึ่งสำหรับภาระในการผ่อนชำระหนี้ต่อเดือนแล้วไม่ควรเกิน 45% ของรายได้หรือเงินเดือน

5. ประเมินความสามารถในการหารายได้และความมั่นคงของรายได้
ต้องมั่นใจว่าหากก่อหนี้แล้วจะสามารถผ่อนชำระหนี้ได้จนครบกำหนดตรงตามเวลา เพราะการชำระหนี้ให้ตรงเวลาเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อประเภทใดก็ตาม ยอดเงินจะมากหรือน้อย หากชำระไม่ตรงเวลาหรือเกินกำหนดหลายวัน ดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นทันที

พบกับ "โคชหนุ่ม" และ "กาย สวิตต์" ได้ใน "เงินทองของจริง" ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.05-9.15 น. ทางช่อง 7HD กด 35

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark